ล้มทั้งยืน!ปธ.กรธ.เตือนบางประเด็นร่างพรป.สส-สวขัดรธน.ปี60แนะให้ศาลรธน.ตีความก่อน

13 มีนาคม 2561, 15:08น.


หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. นาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เปิดเผยว่า วันนี้กรธ.จะประชุมเพื่อสรุปความเห็นถึงข้อกังวลต่อร่างทั้งสองเพื่อส่งไปให้สนช.พิจารณาอีกครั้ง คาดว่าจะส่งให้สนช.ได้ในสัปดาห์นี้ โดยกรธ.มีความเป็นห่วงว่าหลายประเด็นในร่างทั้งสองอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ซึ่งควรทำให้ได้ข้อยุติแต่ตอนนี้ โดยถ้าส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่ตอนนี้จะไม่มีผลกระทบกับโรดแม็ปเลือกตั้งแน่นอน แต่ถ้าปล่อยผ่านไปจนรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ แล้วเกิดมีผู้ใดไปร้องเรียนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในช่วงนั้น ก็มองว่าจะทำให้กระบวนการต่างๆมีปัญหาจนเข้าภาวะล้มทั้งยืน และยากที่จะคาดเดาความเสียหายต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งความเสียหายต่อโรดแม็ปเลือกตั้งที่ไม่รู้ว่าจะกระทบมากเพียงใด และความเสียหายที่จะเกิดกับตัวกฎหมาย ที่ต้องดูว่าถ้าผลวินิจฉัยออกมาว่าร่างขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะให้เขียนใหม่แค่บางประเด็นหรือเขียนใหม่ทั้งร่าง ซึ่งจะทำให้เกิดความลำบากได้ อีกทั้งช่วงนั้นกรธ.ก็จะไม่ได้เป็นคนแก้ไขร่างแล้ว รัฐบาลต้องหาคนมาทำแทน เพราะหน้าที่กรธ.จะหมดไปตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ 



เบื้องต้นในร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กรธ.ยังติดใจใน 2 มาตรา คือ การตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งกรธ.สงสัยว่าเป็นการตัดสิทธิหรือเป็นการตัดเสรีภาพบุคคลกันแน่ อีกมาตราคือ การให้เจ้าหน้าที่กาบัตรลงคะแนนแทนผู้พิการได้ ซึ่งขัดกับที่กรธ.เขียนไว้แต่แรกที่ให้แค่เจ้าหน้าที่ช่วย แต่ผู้พิการต้องกาบัตรเองเท่านั้น และสงสัยว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. กรธ.สงสัยในประเด็นการให้องค์กรมีสิทธิเสนอชื่อผู้มาเป็นส.ว.ได้ ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งกังวลว่าอาจเป็นการเปิดช่องให้องค์กรกระทำการที่ไม่สุจริต และเกิดปัญหาวุ่นวายต่างๆในทางปฏิบัติตามมาได้



โดย กรธ.จะมีสิทธิไปคุยกับศาลรัฐธรรมนูญได้ต่อเมื่อกฎหมายประกาศใช้แล้วเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถทำได้ และคงจะไม่คุยนอกรอบกับประธานสนช.หรือสนช. เพราะการทำเป็นหนังสือแสดงความเป็นห่วงไปก็เพียงพอแล้ว ส่วนสุดท้ายสนช.จะส่งร่างทั้งสองให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ เป็นเรื่องของสนช.ที่ต้องพิจารณาเอง กรธ.ไม่สามารถบอกได้ว่าควรส่งหรือไม่ และคงไม่ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาส่งร่างให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่านายกฯก็ต้องรู้ข่าวอยู่แล้ว ยืนยันว่ากรธ.ถือว่าทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดแล้ว



ส่วนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้กรรมการปปช.อยู่ต่อได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ นาย มีชัย ระบุว่า ต้องว่าไปตามคำวินิจฉัย และคำวินิจฉัยนี้จะเป็นผลผูกพันกับองค์กรอิสระทุกองค์กรต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจของกรธ.  ส่วนกระแสข่าวเชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มานั่งตำแหน่งที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ ส่วนตัวไม่ทราบเรื่องนี้ แต่มองว่าชื่อพรรคที่ไปสอดคล้องกับนโยบายรัฐสามารถตั้งได้ ไม่มีกฎหมายห้าม



 



ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร ผสข.

ข่าวทั้งหมด

X