ฉลุย! ที่ประชุม สนช.ผ่านร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้งส.ส. และ ที่มาส.ว.

08 มีนาคม 2561, 14:10น.


ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลงมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายแก้ไข ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 211 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 7 เสียง ส่งผลให้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ไม่ถูกคว่ำ และระเบียบการเลือกตั้งครั้งหน้าทุกอย่างต้องยืนตามร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมฯมีการปรับแก้ไขทั้งหมด เช่น ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง จะไม่มีการจัดมหรสพและงานรื่นเริง รวมทั้งมีการตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา และตำแหน่งต่างๆในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกำหนดเปิดหีบเลือกตั้งส.ส.ครั้งหน้าในเวลา 08.00-17.00น. เป็นต้น





สำหรับการอภิปรายถึงร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ดังกล่าว ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษ โดยมีสมาชิกที่ติดใจในประเด็นที่คณะกรรมาธิการร่วมฯมีการแก้ไขไม่มาก เช่น นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. อภิปรายถึงมาตรา 35 ว่าด้วยการตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา และตำแหน่งต่างๆในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า อาจส่งผลต่อการตีความทางกฎหมายที่ไม่ชัดเจน และอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยขอให้กลับไปใช้ร่างที่สนช.เคยมีมติไว้ นายสมชาย แสวงการ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการร่วมฯ ชี้แจงกลับว่า การคงไว้ว่าเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นและการเป็นข้าราชการการเมือง ส่วนการตัดสิทธิก็ตัดสิทธิทั้งการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและตัดสิทธิขณะดำรงตำแหน่งอยู่ให้พ้นจากตำแหน่งได้ทันที โดยมีระยะเวลาตัดสิทธิ 2 ปี เป็นต้น





นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 202 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 13 เสียง เป็นผลให้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ไม่ถูกคว่ำและมีผลบังคับใช้ต่อไป สรุปว่าที่ประชุมเห็นชอบกับร่างดังกล่าวตามที่คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายปรับแก้ไข จากนี้จะมีการส่งร่างไปให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เว้นจากว่าในช่วงนี้จะมีสมาชิกสนช.เข้าชื่อกันเกิน 25 คน เพื่อขอให้ประธานสนช.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนในการนำขึ้นทูลเกล้าฯต้องชะลอออกไป



สำหรับการอภิปรายร่างดังกล่าวใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง โดยนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย กล่าวชี้แจงว่าในบทเฉพาะกาลของร่างฯ มีการบัญญัติให้ที่มาของส.ว.ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกมีที่มาจากการเลือกกันเองผ่านกลุ่มอาชีพของผู้ประสงค์สมัครเป็นส.ว. เพียง 10 กลุ่มอาชีพ และให้ชมรม สมาคม มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลมาเป็นส.ว.ได้ ส่วนหลังช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ที่มาของส.ว.จะปรับให้มาจากการสมัครเองโดยตัวบุคคลเท่านั้น และมีที่มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ ส่วนวิธีการเลือกก็ให้เลือกไขว้ข้ามกลุ่มแทนการเลือกกันเอง ซึ่งบทบัญญัติหลังช่วง 5 ปีแรกทั้งหมดถือว่ายืนตามร่างเดิมของ กรธ. นอกจากนี้ยังมีการปรับแก้มาตรา 64 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้เสนอให้แก้ไข  โดยเพิ่มให้กกต.มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ว. หากพบการทุจริตของผู้สมัครเป็นส.ว.



ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร 



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X