เลือกกินได้!เลขาธิการ อย.-รองอธิบดีกรมประมง ย้ำ ตรวจปลานำเข้าจากญี่ปุ่นไม่พบสารต้องสงสัย

06 มีนาคม 2561, 16:46น.


การที่ไทย นำเข้าปลาจากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ครั้งแรกในรอบ 7 ปี หลังเกิดวิกฤตนิวเคลียร์รั่วไหลปนเปื้อนน้ำทะเล จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และสึนามิเมื่อปี 2554 นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. พร้อมด้วย นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล เพราะประเทศไทยก็นำเข้าปลาจากทุกประเทศรวมถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่มีการสั่งห้ามนำเข้าแต่อย่างใด หากเข้าจากฟุกุชิมะก็ต้องระบุจังหวัดนำเข้าไว้ด้วย เพื่อนำตัวอย่างไปตรวจ ก่อนจะอนุญาตให้นำเข้าไทยได้ แต่หากพบว่ามีสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน ก็จะไม่อนุญาตให้นำเข้าและทำลายโดยทันที สำหรับการตรวจตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 - เมษายน 2559 นั้นไม่พบสารปนเปื้อนกัมมันตรังสีเกินมาตรฐานแต่อย่างใด ทำให้ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา มีการผ่อนปรนการตรวจหาสารกัมมันตรังสี



ด้านนางอุมาพร  พิมลบุตร  รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การนำเข้าปลาทุกชนิด เจ้าหน้าที่ด่านตรวจ จะมีการตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเก็บตัวอย่างไปตรวจ หากผ่านเกณฑ์มาตรฐานถึงนำเข้าไทยได้ ส่วนข่าวที่ออกมาว่าเป็นการนำเข้าปลาตาเดียวครั้งแรกของไทยตั้งแต่ปี 2554นั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะมีการนำเข้ามาตลอด แต่ต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานอย่างละเอียดทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค



สำหรับปลาจำนวน 130กิโลกรัมที่เข้ามาล่าสุดเมื่อวันที่ 2มีนาคม2561 ถูกส่งต่อไป 12ร้านอาหารในไทยนั้น นายแพทย์วันชัย เพิ่มเติมว่า  อย. ไม่มีความจำเป็นต้องลงสุ่มตรวจ เพราะผลตรวจทางวิทยาศาสตร์ก่อนนำเข้าไทยไม่มีผลตรวจที่เข้าข่ายต้องสงสัย แนะประชาชนเลือกรับประทานเองตามความมั่นใจ และไม่ยืนยันได้ว่า ไทยเป็นประเทศแรกที่นำเข้าปลาจากฟุกุชิมะ หรือไม่  อย. ได้มีการประสานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ให้ทราบว่ามีมาตรการจัดการกับสินค้าที่ตรวจพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีอย่างเข้มงวด หากพบจะถูกควบคุมและทำลายโดยทันที เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้ากระจายไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ



 



วริศรา ชาญบัณทิตนันท์ รายงาน 



 

ข่าวทั้งหมด

X