น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อจัดทำกรอบการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในระยะปานกลาง 5-10 ปีข้างหน้า โดยใช้สมมุติฐานว่าการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ต่อปี รวมถึงจะต้องมีมาตรการเพิ่มรายได้และควบคุมค่าใช้จ่ายในระดับที่เหมาะสม
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การประชุมเพื่อจัดทำงบประมาณสมดุล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงบประมาณ กรมจัดเก็บภาษีทั้ง 3 กรมภาษี คือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลแล้ว แต่เงื่อนไขเพื่อให้สามารถจัดทำงบประมาณแบบสมดุลจำเป็นต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการลงนามความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรื่องการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลนั้น ถือเป็นนโยบายที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้นโยบายกระทรวงการคลังมา โดยแนว ทางกว้างๆ ที่ต้องดำเนินการคือ 3 กรมภาษีต้องทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ขณะที่สำนักงบประมาณจะต้อง ไปพิจารณาเพื่อตัดงบรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ขณะที่สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจต้องไปดำเนินการใช้วิธีการลงทุนแบบร่วมทุนรัฐเอกชน (พีพีพี) เพื่อลดภาระงบประมาณ ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ส่วนกรณีโรงงานยาสูบ ที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างภาษีใหม่ของกรมสรรพสามิต และเตรียมแผนกู้เงินเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่อง นายยุทธนา หยิมการุณ ผู้ตรวจกระทรวงการคลัง กรรมการโรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า เดิมโรงงานยาสูบประเมินผลการดำเนินงานปี 2561 จะขาดทุน 1,500 ล้านบาท ทำให้ส่งรายได้ให้กับคลังไม่ได้ แต่สถานการณ์การตลาดทำให้ยอดขายดีขึ้นและยาเส้นที่ทดลองทำตลาดก็ได้รับการตอบรับดี ซึ่งน่าจะทำให้ผลการดำเนินงานของโรงงานยาสูบปี 2561 ไม่ขาดทุน แต่จะมีกำไรแต่ไม่มากเหมือนปี 2560 ที่ที่มีกำไรถึง 9,000 ล้านบาท โดยยอมรับว่า มีความกังวลเรื่องส่วนแบ่งการตลาดลดลงและกำไรของบุหรี่ต่อซองลดลง
คดีนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวกรวม 4 คน ผู้ต้องหาคดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี และถูกตั้งข้อกล่าวหา 9 ข้อหา
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดเวทีสาธารณะ เพื่อทวงถามความคืบหน้าคดี และออกแถลงการณ์เรียกร้องโดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ระบุว่า นายเปรมชัยและพวก มีเจตนาเข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตั้งแต่แรก ทั้งเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีที่ซับซ้อน จึงขอเร่งรัดให้สรุปสำนวน พร้อมความเห็นไปยังอัยการและส่งฟ้องศาลอย่างรวดเร็ว และอย่าพยายามเบี่ยงเบนประเด็นการสอบสวน และขอให้รัฐบาล หน่วยงานของภาครัฐเคียงข้างประชาชน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันประณามผู้ที่มีเจตนาในการทำร้ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดตัวอย่างที่ดีแก่สังคมต่อไปในอนาคต
นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เปิดเผยว่าสำนวนคดีที่จะนำส่งฟ้องศาลไม่มีข้อหาเจตนาฆ่าล่าสัตว์ป่า จะเกิดปรากฏการณ์เดินกลางถนนอย่างแน่นอน
นายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอซียูเอ็น) และนายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ เปิดเผยว่ากำลังมีการรวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 130,000 รายชื่อ เพื่อยื่นให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครอง สัตว์ป่า ว่าด้วยการล่าและฆ่าสัตว์ป่า ซึ่งมีบทลงโทษที่น้อยเกินไป
ส่วนการสืบสวนคดีพยายามติดสินบน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. เปิดเผยว่า การสอบปากคำนายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก ยังได้ข้อมูลไม่ครบ จึงบอกให้เจ้าหน้าที่ไปสอบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและ ไม่ได้หวั่นไหวแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน
ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกรณีครอบครองงาช้างผิดกฎหมาย เป็นหน้าที่ของกรมอุทยานฯ และจากการตรวจสอบพบว่าผู้จดแจ้งครอบครองคือภรรยานายเปรมชัย จึงต้องแจ้งความดำเนินคดีภรรยาของนายเปรมชัย
คดีทุจริตเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดต่างๆ พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบพบการทุจริตรวม 24 จังหวัด โดยพบพฤติกรรมการทุจริตหลายรุปแบบ รวมถึงการนำชื่อข้าราชการส่วนท้องถิ่นมาเบิกเงิน โดยในวันนี้จะมีการประชุมเพื่อมติตั้งอนุกรรมการไต่สวน จ.บึงกาฬ และจ.หนองคาย ส่วนที่เหลือจะทยอยขอตั้งอนุกรรมการไต่สวน
ส่วน นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบให้นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประสานกับนายสัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดี มมส. ติดตามกรณีที่ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ผู้เปิดโปงขบวนการทุจริตฯ และเปิดเผยเรื่องที่ถูกตำหนิ โดยต้องการมีการปกป้องนิสิตที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพราะเป็นผู้ที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติที่สมควรได้รับการยกย่อง
นายสุภัทร เปิดเผยว่า ทาง มมส.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วจะสรุปผลการสอบสวนได้ในวันที่ 12 มีนาคมนี้
วันนี้ ศาลฎีกากำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีโรงไฟฟ้าหงสา ตามที่นายศิวะ งานทวี กับพวก เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU และบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ซึ่งคาดว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะประกาศขึ้นเครื่องหมาย Halt (H) เพื่อหยุดพักการซื้อขายหุ้น BANPU และ BPP เพราะการตัดสินคดีโรงไฟฟ้าหงสา ถือเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญและส่งผลต่อราคาหุ้น โดย BANPU เคยขอให้ขึ้นเครื่องหมาย H ในช่วงศาลอุทธรณ์ตัดสินคดีเมื่อปี 2557
นายศิวะกับพวก ระบุว่า บริษัทกับพวกหลอกลวง ด้วยการเข้าร่วมทำสัญญาร่วมทุน เพื่อให้ได้ข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหิน รวมทั้งรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่เหมืองหงสา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (โครงการหงสา) แล้วใช้สิทธิ์ไม่สุจริตในการรายงานเท็จทำให้รัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานของนายศิวะกับพวก เพื่อที่บริษัทจะได้ทำสัญญากับรัฐบาลลาวเอง
ส่วนเรื่องแรงงานสัญชาติลาว พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หารือกับ นายคำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการแห่ง สปป.ลาว ที่ขอให้ไทยส่งข้อมูลแรงงานที่ยังดำเนินการปรับสถานภาพไม่แล้วเสร็จ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนการดำเนินการให้ทันกำหนดเวลา และขอเชื่อมโยงข้อมูลของแรงงานลาวที่อยู่ในประเทศไทย และฝากถึงนายจ้างและผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติ ให้เร่งไปจัดทำทะเบียนประวัติให้แล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคมนี้ เพราะจะไม่มีการขยายเวลาอีกต่อไป
ปิดท้ายกรณีตลาดเถื่อนเขตประเวศ นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล รองประธานสภา กทม.คนที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการจัดตั้งตลาดในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ซอยศรีนครินทร์ 55 เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร สรุปผลสอบข้อเท็จจริง เพื่อเสนอพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า ตลาดทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดสวนหลวง ตลาดยิ่งนรา ตลาดรุ่งวาณิชย์ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ตและตลาดร่มเหลือง ดำเนินการจัดตั้งตลาดไม่ถูกต้อง และขณะนี้ทั้ง 5 แห่งไม่มีสภาพเป็นตลาดตามที่มีคำสั่งให้หยุดดำเนินการไปแล้ว ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมี 2 ส่วนคือ สำนักการโยธาและผังเมือง ประกอบด้วย นายจุมพล สำเภาพล ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักฯ เมื่อปี 2553-2554 และนายวินัย ลิ่มสกุล ดำรงตำแหน่งปี 2554-2556 และสำนักงานเขตประเวศ ประกอบด้วย นายสมชาย ฉัตรสกุลเพ็ญ นางอัจฉรา ห่อสมบัติ นายณรงค์ จงแจ่มฟ้า และนายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในส่วนต่างๆ ทั้งฝ่ายสิ่งแวดล้อม ฝ่ายโยธา ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ว่าฯ กทม.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
....