สรุปผลสอบตลาด5แห่งรอบ 'บ้านป้า' ผิดกฎหมาย ทั้งพบข้าราชการเรียกรับผลประโยชน์

05 มีนาคม 2561, 11:43น.


ภายหลังการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการเปิดตลาดในซอยศรีนครินทร์ 55 เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่าง นางสาวรัตนฉัตร แสงหยกตระการ อายุ 61 ปี และเจ้าของตลาด จนเป็นเหตุให้เกิดกรณีการทุบรถ ที่จอดหน้าบ้านนางสาวรัตนฉัตร



นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เปิดเผยว่า จากการประชุมติดตามความคืบหน้าและลงพื้นที่ไปตรวจสอบ คณะกรรมการฯ เห็นพ้องต้องกันว่าตลาดทั้ง 5 แห่ง ดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะไม่มีการขออนุญาตจัดตั้งตลาด ขออนุญาตเพียงการก่อสร้างอาคารเท่านั้น อย่างไรก็ตามในประเด็นการก่อสร้างอาคารนั้น ตลาด 4 แห่งดำเนินการถูกต้อง ยกเว้นตลาดนัดร่มเหลืองเท่านั้น ซึ่งแต่เดิมประเด็นที่ถกเถียงกันและขึ้นศาลปกครอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ผังเมือง, พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร, พ.ร.บ.สาธารณสุข และ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน เพราะตามพ.ร.บ. ผังเมือง พื้นที่นี้สามารถก่อสร้างตลาดและอาคารพาณิชย์ได้ แต่นางสาวรัตนฉัตรยกพ.ร.บ.จัดสรรที่ดินมาโต้แย้ง ว่าเป็นที่ดินจัดสรรเพื่อที่อยู่อาศัย ทางศาลปกครองสูงสุดจึงตีกลับมาให้พิจารณาใหม่



โดยวันนี้ได้ส่งผลการตรวจสอบให้กับพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามกฎหมายต่อไปแล้ว โดยข้อมูลบางส่วนยังไม่เรียบร้อย ทั้งจากศาลปกครองและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากการตรวจสอบ พบว่ามีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์ด้วย แต่ไม่ได้ลงไปเรียกรับผลประโยชน์โดยตรง ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ไม่มีอำนาจที่จะไปตรวจสอบประเด็นนี้



จากข้อมูลพบว่าที่ดินที่ก่อตั้งตลาดทั้งหมดนี้ เดิมเป็นสถานที่ออกกำลังกาย และมีผู้มาตั้งแผงขายของ ในปี 2551 เริ่มจากตลาดสวนหลวง ร.9 เปิ้ล มาร์เก็ต และตลาดอื่นๆ สุดท้ายคือตลาดร่มเหลือง โดยตลาดทั้งหมดไม่มีสภาพของตลาดเลย



ส่วนข้าราชการที่เกี่ยวข้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สำนักการโยธา ซึ่งดูแลเรื่องอาคาร การก่อสร้างอาคาร และทางสำนักงานเขต ดูแลเรื่องการขออนุญาตจัดตั้งตลาด โดยผู้ทำเกี่ยวข้องโดยตรง คือ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา คือ นายจุมพล สำเภาพล ดำรงตำแหน่งปี 2552-2554 และนายวินัย ลิ่มสกุล ดำรงตำแหน่งปี 2554-2556 และผู้อำนวยการสำนักงานเขต ที่เกี่ยวข้อง 4 คน ตามที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย นายสมชาย ฉัตรสกุลเพ็ญ, นางอัจฉรา ห่อสมบัติ, นายณรงค์ จงแจ่มฟ้า และคนปัจจุบัน คือ นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง



นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ของเขตในห้วงเวลาที่เกิดเหตุขณะนั้นอีกหลายคน และจากการตรวจสอบทราบว่าที่ผ่านมา มีบางช่วงที่มีการเก็บค่าปรับ บางคดีปรับสูงสุดหลายแสนบาท บางช่วงก็ปล่อยปละละเลยไม่ได้เก็บค่าปรับ โดยมีรายละเอียดทั้งหมดว่าใครดำเนินการปรับกี่ครั้ง หนักเบาเท่าใดบ้าง



ส่วนเรื่องของโทษต้องรอการตัดสินจากทางศาลปกครอง ซึ่งจะมีโทษออกมาทั้งหมด 3 แบบ คือโทษทางอาญา โทษทางวินัย และโทษทางแพ่ง โดยโทษทางอาญาต้องรอให้ทาง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด โทษทางวินัยก็จะดำเนินการกับข้าราชการโดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผิดวินัยร้ายแรง และผิดวินัยไม่ร้ายแรง ซึ่งจะต้องตรวจสอบในแต่ละรายไป



นายนิรันดร์ ระบุด้วยว่า ตามขั้นตอนการตรวจสอบของข้าราชการ สามารถดำเนินการย้อนหลังกับผู้ที่พ้นตำแหน่งได้ทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร



...



ผสข.ปภาดา พูลสุข 

ข่าวทั้งหมด

X