กมธ.ร่วม3ฝ่าย สรุปประเด็นสำคัญร่างพ.ร.ป.ที่มาส.ว. ก่อนเสนอสนช.8มี.ค.

28 กุมภาพันธ์ 2561, 12:41น.


ผลการพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาเสร็จแล้ว พล.ร.อ.ธราทร ขจิตสุวรรณ โฆษกคณะกรรมาธิการร่วมฯ เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ทำความเห็นแย้ง 3 ประเด็น โดย 2 ใน 3 ของประเด็น คณะกรรมาธิการร่วมฯ มีมติ 9 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบให้กลับไปใช้ร่างเดิมของกรธ.ที่เคยเสนอมา เช่น มาตรา 11 เรื่องแบ่งกลุ่มอาชีพของผู้สมัครส.ว. สรุปเป็น 20 กลุ่ม แต่ในบทเฉพาะกาล ในช่วง 5 ปีแรก กำหนดให้ส.ว.มีที่มาจาก 10 กลุ่มอาชีพ เป็นการคัดเลือกกันเองทั้งระดับ อำเภอและประเทศ และให้ชมรม สมาคม มีสิทธิเสนอชื่อผู้เป็นส.ว.ได้  มาตรา 13 เรื่องที่มาของผู้สมัคร สรุปให้ผู้ประสงค์สมัครเป็นส.ว.ลงสมัครได้เฉพาะในนามบุคคลเท่านั้น ส่วนวิธีการเลือก ส.ว.คณะกรรมาธิการร่วมฯ มีมติให้กลับไปใช้วิธีการเลือกไขว้แทนการเลือกกันเอง


ส่วนประเด็นความเห็นแย้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง( กกต.) ที่มี 1 ประเด็นในมาตรา 64 วรรค 1 เรื่องการให้กกต.มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้ให้อำนาจ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  คณะกรรมาธิการร่วมฯ พิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่กกต.แย้ง โดยมีมติให้กกต.สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นได้ เพื่อมิให้ขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ


พล.ร.อ.ธราทร ระบุว่า ร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้  ยังเหลือปรับแก้ถ้อยคำอีกเล็กน้อย ก่อนจะนำส่งให้กับสนช. ในวันที่ 8 มี.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการพิจารณาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เป็นการลงมติครั้งเดียวว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายในแต่ละฉบับ


 


ผู้สื่อข่าว: ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร 
ข่าวทั้งหมด

X