ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้นายวัฒนา เตียงกูล ทนายความ ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมการกงสุล และ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เรื่องออกคำสั่งโดยมิชอบกรณีที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2558 ยกเลิกหนังสือเดินทาง 2 ฉบับ คือ หนังสือเดินทางเลขที่ U 957411 และเลขที่ Z 530117 นายทักษิณ ผู้ฟ้องอ้างว่า คำสั่งของอธิบดีกรมการกงสุล ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยกเลิกหนังสือเดินทางเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 กำหนดให้อธิบดีกรมการกงสุล ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีอำนาจยกเลิกหนังสือเดินทางของบุคคล ก็เป็นเพียงกฎระเบียบภายในฝ่ายบริหาร ไม่มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ขณะที่ ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2559 ให้ยกฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าข้อกำหนดเกี่ยวกับระเบียบการออกหนังสือเดินทางและเอกสารการเดินทาง ขั้นตอนและวิธีการในการขอหนังสือเดินทางและเอกสารฯ ข้อ 21 (4) ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธหรือยับยั้งการขอ หรือแก้ไขหนังสือเดินทางได้เมื่อผู้ร้องกระทำผิดกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติราชการ ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือปิดบังความจริงอันเป็นสาระสำคัญ หรือแสดงเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จในการขอหนังสือเดินทาง หรือไม่อยู่ในฐานะที่จะเดินทางไปต่างประเทศ หรือหากเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจะเป็นภัยต่อสวัสดิภาพของผู้เดินทางเองหรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงปลอดภัย หรือชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย และข้อ 23 กำหนดว่า พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถยกเลิกและเรียกคืนหนังสือเดินทางได้ เมื่อปรากฏภายหลังว่า (2) ผู้ถือหนังสือเดินทางเป็นบุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจออกหนังสือเดินทางให้ตามข้อ 21 (4) เป็นหลักเกณฑ์เงื่อนไขบางประการที่กำหนดให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธ หรือยับยั้งหรือยกเลิกหนังสือเดินทางได้ ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลในการเดินทางโดยเด็ดขาดแต่อย่างใด ดังนั้นระเบียบดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการเดินทางและกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางตามที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 29 และมาตรา 34 บัญญัติรับรองไว้ รวมทั้งไม่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ทั้งนี้ นายทักษิณ ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดว่า ระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ไม่ใช่กฎหมายเฉพาะให้อำนาจรัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพได้ การที่ระเบียบดังกล่าวให้อำนาจ อธิบดีกรมการกงสุล ไม่ออกหรือยกเลิกหนังสือเดินทางของบุคคลสัญชาติไทย จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกติการะหว่างประเทศ และการยกเลิกหนังสือเดินทางโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ทั้งที่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายจับจังถือว่าเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น
นายวัฒนา แถลงปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลว่า รัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 38 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทาง และการเลือกถิ่นที่อยู่ ซึ่งต่างไปจากรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ที่ตัดคำว่าภายในราชอาณาจักรออกไป จึงเท่ากับว่าได้รับรองสิทธิการเดินทางของบุคคลทั้งในและนอกราชอาณาจักร ซึ่งการเดินทางนอกราชอาณาจักรจำเป็นจะต้องใช้หนังสือเดินทาง แต่การที่กรมการกงสุล อาศัยเพียงระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นระเบียบภายในเพิกถอนหนังสือเดินทางจึงเป็นการจำกัดสิทธิในการเดินทางตามที่รัฐธรรมนูญฯ รองรับ รวมทั้งขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศ โดยเรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคนทั่วประเทศเพราะเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารทั้งที่เป็นสิทธิรัฐธรรมนูญ รองรับ และฝ่ายบริหารอาจใช้อำนาจตามระเบียบดังกล่าวเพื่อเหตุผลทางการเมืองได้
ขณะที่ ตุลาการผู้แถลงคดี แถลงความเห็นส่วนตัวต่อองค์คณะ ว่า คำอุทธรณ์ของนายทักษิณ ที่อ้างว่าระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 จำกัดสิทธิในการเดินทางตามที่รัฐธรรมนูญรองรับ หรือการยกเลิกหนังสือเดินทาง ทั้งที่มีเพียงข้อกล่าวหาว่านายทักษิณกระทำผิดกฎหมายอาญา หรือที่นายทักษิณ อ้างว่าการใช้ดุลยพินิจในการยกเลิกหนังสือเดินทางดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัตินั้น ไม่สามารถรับฟังได้ โดยข้อ 23 ของระเบียบดังกล่าวได้กำหนดไว้แล้วว่า กรณีหากพบว่ามีผู้กระทำการขัดต่อหลักเกณฑ์ตามระเบียบสามารถยกเลิกหนังสือเดินทางได้ การยกเลิกหนังสือเดินทางของนายทักษิณ จึงไม่เข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิ ถือเป็นการกระทำตามรูปแบบขั้นตอนปกติไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติ จึงเห็นควรที่ศาลปกครองสูงสุด จะมีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องตามที่ศาลปกครองกลางเคยมีคำพิพากษา ภายหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการแถลงความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีแล้ว องค์คณะ ก็จะประชุมหารือเพื่อทำคำวินิจฉัยเป็นคำพิพากษาต่อไป ศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ได้กำหนดวันอ่านคำพิพากษา
แฟ้มภาพ