ปธ.กรธ.ชี้แจง ไม่ปิดโอกาสหารือแก้กฎหมายประกอบรธน.

22 กุมภาพันธ์ 2561, 15:19น.


กรณีที่มีข่าวว่าคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ยังหาข้อสรุปไม่ได้ในประเด็นว่าด้วยวิธีการได้มาซึ่งส.ว.ใน 3 ประเด็น และจะนัดลงมติทีเดียวในการประชุมนัดรองสุดท้ายวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ยอมรับว่า ยังตกลงกันไม่ได้ อยู่ระหว่างหาทางออกร่วมกัน ยังมีเวลาที่จะคุยกันในคณะกรรมาธิการร่วมฯ ชี้แจงให้เห็นถึงการขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญของ 3 ประเด็น อย่าเพิ่งไปสมมติว่าจะเกิดอะไร เพราะจะทำให้ทุกอย่างลำบาก ส่วนเรื่องที่จะมีการลงมติในวันที่ 27 ก.พ.ยังไม่ได้รับรายงานมา เชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องการเอาแพ้เอาชนะกัน แต่ต้องฟังเหตุผลแต่ละฝ่าย ไม่ยืนยันว่ากรธ.จะยืนตามเดิมที่เคยเสนอไว้ เพราะจะเป็นการปิดโอกาสการหารือ ส่วนตัวจะไม่ชี้แนะแนวทางกับคณะกรรมาธิการร่วมฯ เพราะอาจเป็นการก้าวก่าย แต่ขอให้ทุกคนมองประโยชน์ประเทศเป็นหลัก ยังไม่ถึงเวลาที่จะไปคิดถึงการส่งร่างกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แม้ว่าอาจมีแนวโน้มที่ร่างจะไม่มีการปรับแก้ตามที่กรธ.เสนอก็ตาม



ส่วนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เบื้องต้น ทราบมาว่าได้ข้อยุติมิให้มีการจัดมหรสพ ระหว่างหาเสียงไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่กรธ.เสนอ และยังได้ข้อสรุปเรื่องเวลาการออกคะแนนเสียงเลือกตั้งว่าจะเริ่มเปิดหีบตั้งแต่เวลา 08.00-17.00น. จากเดิมที่กำหนดไว้ 07.00-17.00น. ซึ่งกรธ.คิดว่าสมเหตุสมผลและรับได้ จึงได้ข้อยุติ แต่ยังมีประเด็นที่ค้างอยู่คือ การตัดสิทธิผู้ไม่ไปเลือกตั้งมิให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา และตำแหน่งต่างๆในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งยังคุยไม่จบ แต่ได้ให้คณะกรรมาธิการร่วมฯ กลับไปร่างใหม่อีกครั้ง เพราะเกรงว่าจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ



ส่วนการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ล่าสุดอยู่ระหว่างการนับผลคะแนนการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบบุคคลที่ควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ทั้ง 7 คน ซึ่งแนวโน้มล่าสุดมีสิทธิที่จะไม่มีผู้ได้รับความเห็นชอบเป็นกกต.เลยแม้แต่คนเดียว เนื่องจากสมาชิกสนช.ลงคะแนนไม่เห็นชอบกับบุคคลต่างๆทุกคนมากกว่าคะแนนเห็นชอบหลายเท่าตัว ซึ่งการจะได้รับรองเป็นกกต.ต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบอย่างน้อย 124 เสียงจากสมาชิกสนช.ทั้งหมด





ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร



 



 

ข่าวทั้งหมด

X