คณะกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย เตรียมขอมติ 3 ประเด็นหลัก ร่างพ.ร.ป.ส.ว. 27 ก.พ.

21 กุมภาพันธ์ 2561, 18:20น.


การพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. หลังวันนี้มีการประชุมนัดที่สองของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พล.ร.อ.ธราทร ขจิตสุวรรณ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการร่วมฯ เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมยังหาข้อสรุป 3 ประเด็นสำคัญไม่ได้ ทั้งเรื่องการให้เลือกกันเองแทนการเลือกไขว้, การให้ชมรม สมาคม มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเป็นส.ว. และการลดกลุ่มอาชีพผู้สมัครส.ว.จาก 20 เหลือ 10 กลุ่มอาชีพ เนื่องจาก แต่ละฝ่ายมีจุดยืนของตัวเอง ตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ยืนยันว่า การแก้ให้เป็นรูปแบบดังกล่าวเหมาะสมแล้ว เช่นเดียวกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่ยืนยันเช่นกันว่าควรมี 20 กลุ่มอาชีพ, ไม่ควรเลือกกันเอง และไม่ควรให้ชมรม สมาคม เป็นผู้เสนอชื่อบุคคลมาเป็นส.ว. ได้ เพราะทั้งหมดส่อขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และขัดกับมาตรา107 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมจึงให้แต่ละฝ่ายไปทบทวนจุดยืนตัวเองอีกครั้ง และจะนำ 3 ประเด็นนี้เข้าที่ประชุมในวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ โดยวันดังกล่าวจะขอมติทีละประเด็นทั้ง 3 ประเด็นจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ว่าเห็นชอบให้เป็นไปในแนวทางใด โดยผลมติเสียงข้างมากถือว่าเป็นผลชนะ และต้องปรับไปตามผลมติดังกล่าว



ส่วนถ้าสุดท้ายแล้วกรธ.ชนะผลมติ และต้องกลับไปใช้ร่างเดิมตามที่กรธ.เสนอ ซึ่งตรงข้ามกับสนช. จะมีผลให้ที่ประชุมสนช.พิจารณาไม่เห็นชอบ จนนำไปสู่การคว่ำร่างหลังร่างกลับเข้าสู่ที่ประชุมสนช.ในวันที่ 8 มีนาคมหรือไม่ พล.ร.อ.ธราทร ระบุว่า เป็นดุลยพินิจของสนช.โดยรวม ถ้าสนช.ส่วนมากไม่เห็นชอบแล้วร่างตกไป ก็ต้องไปเริ่มร่างกันใหม่ แต่การจะให้ร่างตกไปต้องใช้เสียงไม่เห็นชอบถึง 166 เสียง ทั้งนี้เหตุการณ์ลักษณะนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น ขณะเดียวกันร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ต้องล้อไปกับร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งจะต้องดำเนินการทุกอย่างให้เสร็จพร้อมกันด้วย



นอกจาก 3 ประเด็นนี้แล้ว วันนี้คณะกรรมาธิการร่วมฯ ยังมีมติให้เพิ่มบทลงโทษในมาตรา 77 เกี่ยวกับการมีบทลงโทษต่อชมรม สมาคม ที่เสนอชื่อผู้สมัครส.ว. โดยใช้เอกสารหรือให้ข้อมูลเท็จ แต่บทลงโทษจะเป็นโทษทางปกครองแทน เพราะชมรม สมาคม ถือเป็นนิติบุคคล



คณะกรรมาธิการร่วมฯ ยังมีมติให้เพิ่มถ้อยคำในมาตรา 64 ว่า "ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามความร้ายแรงของการกระทำตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กำหนด" ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 226 ของรัฐธรรมนูญ



สำหรับการประชุมร่างกฎหมายฉบับนี้  มีกำหนดประชุมครั้งถัดไปวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เป็นนัดรองสุดท้าย ก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จะสรุปร่างส่งให้สนช.ทันที ส่วนร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. จะประชุมอีกครั้งวันพรุ่งนี้ในเวลา 14.00น.



แฟ้มภาพ



ผู้สื่อข่าว : ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร  



 

ข่าวทั้งหมด

X