คณะกมธ.ร่วม3ฝ่าย ต้องชี้แจงเหตุผลปรับแก้ร่างกฎหมายลูก2ฉบับให้สนช.เห็นชอบ

20 กุมภาพันธ์ 2561, 17:57น.


ขั้นตอนหลังจากที่คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาแก้ไขร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการร่วมจะต้องพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับภายในสิ้นเดือนนี้ จากนั้นเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาในวันที่ 8 มี.ค. ที่ประชุมจะพิจารณาร่างทั้งสองฉบับแบบเต็มสภา ก่อนจะลงมติทีละฉบับ และหนึ่งฉบับจะลงครั้งเดียวว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายลูกดังกล่าว ถ้าคะแนนเสียงไม่เห็นชอบมีมากกว่า 166 เสียง จะทำให้ร่างฉบับนั้นตกไปทั้งฉบับทันที และต้องเริ่มร่างใหม่ แต่ถ้าคะแนนเสียงไม่เห็นชอบมีไม่ถึง 166 เสียง ร่างกฎหมายลูกดังกล่าวยังถือว่าได้รับการเห็นชอบจากสนช.อยู่ และมีผลบังคับใช้ได้ต่อไป แม้จะมีเสียงส่วนมากที่ไม่เห็นด้วยก็ตาม



นายแพทย์เจตน์ ระบุถึงความเสี่ยงที่กฎหมายลูกทั้งสองฉบับจะถูกคว่ำ เพราะมีหลายมาตราที่แก้ไขแล้วตรงข้ามกับความเห็นชอบของสนช.ว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการร่วมฯต้องอธิบายให้ที่ประชุมสนช.เข้าใจถึงเหตุผล จะให้คณะกรรมาธิการร่วมฯ และสมาชิกสนช.อภิปรายเต็มที่



จากการคุยกับนายสมชาย แสวงการ ที่เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการร่วมฯในร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. พบว่าการหารือในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นไปด้วยดี เช่นเดียวกับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. คาดว่าร่างทั้งสองคงไม่มีปัญหา และน่าจะผ่านการเห็นชอบจากสนช.



กรณีที่คณะกรรมาธิการร่วมฯร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เห็นชอบไม่ให้มีมหรสพระหว่างการหาเสียง นายแพทย์เจตน์ ระบุว่า เป็นเพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) อธิบายถึงผลเสียหายต่างๆของการมีมหรสพให้ตัวแทนสนช.เข้าใจ เช่น การมีมหรสพทำให้การตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการแสดงมหรสพทำได้ยาก, ดารา ศิลปินที่มาแสดงในงานอาจจูงใจประชาชนให้ไปเลือกพรรคที่ตัวเองมาแสดงงานให้ รวมถึงเสี่ยงต่อการฟ้องร้องถึงความไม่โปร่งใสต่างๆ ซึ่งจะเป็นภาระกกต.มากขึ้น ยืนยันว่าแก้ให้ไม่มีมหรสพในการหาเสียงแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างให้กฤษฎีกาไปแก้ถ้อยคำให้ดีขึ้น



ส่วนมาตรา 35 ที่ว่าด้วยการตัดสิทธิผู้ไม่ไปเลือกตั้ง มิให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา และตำแหน่งต่างๆในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังยืนตามเดิม แต่กำลังปรับแก้ในเรื่องถ้อยคำและจำนวนปีของการตัดสิทธิ ไม่ให้ขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560



ส่วนการประชุมครั้งถัดไปคณะกรรมาธิการร่วมฯร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. น่าจะได้ข้อยุติในเรื่องต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเวลาการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สำหรับประเด็นต่างๆของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับยังปรับแก้ได้จนวันสุดท้ายของการประชุม



ผู้สื่อข่าว: ธีรวัฒน์  สิทธิเกรียงไกร 



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X