รบ.ให้นักวิชาการ-ประชาชน ร่วมประเมินผลกระทบ SEA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา

20 กุมภาพันธ์ 2561, 14:52น.


หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเจรจาของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับเครือข่ายคนสงขลา - ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ช่วงเช้าวันนี้ ว่าทั้ง 2 ฝ่าย ได้มีข้อตกลงร่วมกันในการจัดทำรายงาน การประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์(SEA)เพื่อศึกษาว่าพื้นที่จังหวัดกระบี่และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของนโยบาย แผนงาน หรือในระดับยุทธศาสตร์ โดยเปิดโอกาสให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หากผล SEA ออกมาเห็นว่ามีความเหมาะสม จะเริ่มดำเนินการจัดทำ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ใหม่ แต่หากผล SEA ออกมาเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็จำเป็นต้องยกเลิกโครงการ



ทั้งนี้การจัดทำ SEA ครั้งนี้จะนำนักวิชาการคนกลางมาดำเนินการศึกษา เนื่องจากในครั้งที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ว่าจ้างนักวิชาการที่เป็นกลาง มาดำเนินการศึกษาทำให้กลุ่มผู้เห็นต่างเกิดความไม่มั่นใจ โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างเห็นชอบตรงกันในข้อตกลงนี้ ส่วนในเรื่องคดีความ การฟ้องร้อง นายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีข้อสั่งการพิเศษ แต่ได้สอบถาม เรื่องการฟ้องร้อง พร้อมกับระบุว่า ไม่ให้ดูมิติเรื่องของความคิดที่แตกต่างเรื่องสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่ให้ดูเรื่องรายละเอียดเรื่องคดีความ เนื่องจากวันนี้ทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจในเจตนารมณ์ร่วมกัน นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่เจรจาพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างและแก้ไขสถานการณ์พร้อมขอให้เป็นตัวอย่าง สำหรับทุกกระทรวง 



ที่ประชุมยังได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขตามข้อเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยสาระสำคัญคือการให้กองทุนฯ เข้าสู่ระบบกองทุนหมุนเวียน มีเงินตั้งต้น 1,000 ล้านบาท และมีการแก้ไขในส่วนของงบประมาณอุดหนุนในช่วง 5 ปีแรก ที่ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยร่างกฎหมายฉบับเดิมได้ของบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลเพิ่มร้อยละ 5 ต่อปี แต่คณะรัฐมนตรีไม่สามารถให้ได้ จึงให้มีการจัดทำแผนงานเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นรายปี เพื่อขอดูรายละเอียดการใช้จ่าย และเพื่อให้การใช้จ่ายเกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า จะต้องมีการจัดทำหลักเกณฑ์และระเบียบการกู้ยืมเงินของกองทุนไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกลุ่มเป้าหมายของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ด้วย



ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม



 

ข่าวทั้งหมด

X