การรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 2 การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแครายลำสาลี (บึงกุ่ม) นายกัณต์ณธีร์ เนติโรจนชัยชาญ ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น หลังจากนี้ต้องหาทางแนวทางแก้ไขศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและยังคงมีกระบวนการขอความเห็นชอบ หลังจากนั้นจะลงพื้นที่ การจัดสรรงบประมาณ ซึ่งกระบวนการทั้งหมด ใช้ระยะเวลา 5-10 ปี ทั้งนี้การก่อสร้างรถไฟฟ้าอยู่ในขั้นศึกษาความเหมาะสม หากศึกษาแล้วสมควรดำเนินการต่อจะส่งมอบให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกแบบรายละเอียดการเดินรถต่อไป ส่วนระบบทางด่วน ส่วนที่ก่อสร้างตอม่อไว้แล้ว ในเส้นทางถนนประเสริฐมนูกิจ ได้เคยศึกษาข้อมูลไว้แล้ว และได้ชะลอโครงการไปเมื่อปี 2556 แต่จะมีการศึกษาอีกและพิจารณาให้ครบถ้วนทุกมิติ ซึ่งต้องมีการทำรายงานสิ่งแวดล้อมเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเห็นชอบ รวมทั้งหามาตรการลดผลกระทบ
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานที่เข้าร่วมรับฟัง ยังคงมีข้อกังวลเรื่องสภาพการจราจร เพราะบริเวณใกล้เคียงมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่เริ่มดำเนินการอยู่ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และความกังวลเรื่องฝุ่นละออง หากมีการก่อสร้างที่จะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสียงส่วนหนึ่งที่เห็นด้วยกับการสร้างรถไฟฟ้าแต่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการสร้างระบบทางด่วนควบคู่กันไปเนื่องจากเป็นมลพิษและการสร้างทางด่วน ถือเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ส่วนตัว แทนที่จะสนับสนุนให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
ด้านนายอนุกูล หมื่นวณิชกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมระบบราง ชี้แจงว่า โครงการนี้มีแนวคิดจากการศึกษาทบทวนโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือที่ก่อสร้างเสาตอม่อเตรียมไว้บนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (เกษตร- นวมินทร์) ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกำหนดให้เป็นทางเชื่อมกับระบบทางพิเศษระหว่างเมืองตะวันออกถึงตะวันตก โดยโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ได้หยุดชะงักตั้งแต่ปี 2556 ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ และได้ข้อสรุปรูปแบบทางเลือกในการพัฒนา คือการพัฒนาด้วยระบบขนส่งทางระบบทางพิเศษหรือทางด่วนและระบบขนส่งมวลชนบนแนวสายทางเดียวกัน แต่ในระหว่างการก่อสร้าง ทั้ง 2 ระบบจะก่อสร้างไม่พร้อมกัน จากการศึกษาพบว่ารูปแบบที่มีทางพิเศษ หรือทางด่วนอยู่ด้านบนและมีระบบไฟฟ้าอยู่ด้านล่างมีความเหมาะสมเนื่องจากรถไฟฟ้าอยู่ในระดับต่ำจะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกไม่ต้องขึ้นลงสถานีในที่สูง และมีความปลอดภัย โดยแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลนี้ เริ่มต้นบริเวณแยกแครายมุ่งหน้าไปยังถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกแคราย แยกบางเขน แยกเกษตร ต่อเนื่องไปถนนประเสริฐมนูกิจ ตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา ถนนสุคนธสวัสดิ์ ตัดถนนเกษตรนวมินทร์เลี้ยวขวา ไปตามแนวเส้นถนนนวมินทร์ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิสิ้นสุดถนนรามคำแหง รวมระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร เบื้องต้นมีประมาณ 18-20 สถานี รูปแบบการก่อสร้างส่วนใหญ่ เป็นแนวเกาะกลางถนน
ขณะที่รูปแบบทางพิเศษ เป็นทางยกระดับตลอดแนวประกอบด้วย 2 ช่วง คือช่วงแนวทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก เริ่มจากแยกเกษตรไปตามถนนประเสริฐมนูกิจผ่านแยกลาดปลาเค้า แยกเสนา แยกสุคนธสวัสดิ์ ตัดทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ แยกนวลจันทร์ แยกนวมินทร์ สิ้นสุดที่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ระยะทาง 12 กิโลเมตร และช่วงทดแทน N1 แนวคลองบางบัว คลองบางเขนและเลียบขนานทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) แนวเส้นต่อขยายจากโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 บริเวณข้ามคลองบางบัว ตามแนวถนนผลาสินธุ์ ขนานคลองบางบัวผ่านถนนพหลโยธินเลี้ยวซ้ายไปทางแนวคลองบางเขน จนถึงถนนวิภาวดีเลี้ยวซ้ายไปตามถนนวิภาวดีรังสิต เชื่อมต่อโครงข่ายทางยกระดับอุตราภิมุขทางพิเศษศรีรัช- วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก ระยะทาง 7 กิโลเมตร ออกแบบเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร ทิศทางละ 2 ช่องจราจร รวมระยะทาง ประมาณ 19 กิโลเมตร
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม