หลังจากมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายทั้งสองชุดมีกำหนดประชุมนัดแรกในวันจันทร์ที่จะถึงนี้
นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ในฐานะคณะกรรมาธิการร่วมร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. เปิดเผยว่า การประชุมนัดแรกในวันจันทร์นี้ จะยังไม่มีการพิจารณาลงรายละเอียดตามมาตราที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทำการโต้แย้งมา แต่จะเป็นการประชุมเพื่อกำหนดกรอบกติกาต่างๆเช่น กำหนดวันและเวลาประชุม กำหนดกรอบการประชุมและรายละเอียดการพิจารณาร่างพ.ร.ป. รวมทั้งการเลือกประธานและตำแหน่งต่างๆที่จำเป็นต้องมีในคณะกรรมาธิการร่วม เพื่อให้การประชุมสะดวก แต่คาดว่าคงมีการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆไม่มาก เพราะไม่ใช่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯปกติทั่วไป และคณะกรรมาธิการร่วมชุดนี้มีเวลาทำงาน 15 วัน หรือถึงต้นเดือนมีนาคมนี้เท่านั้น
สำหรับการพิจารณาอาจแล้วเสร็จก่อน 15 วันได้ถ้าการพิจารณามีข้อถกเถียงไม่มากหรือเป็นไปอย่างราบรื่น คณะกรรมาธิการร่วมก็จะส่งร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ให้ที่ประชุมสนช. คาดว่าในสัปดาห์ต่อมาก็จะมีการบรรจุเข้าสู่วาระประชุม และสนช.ก็สามารถเริ่มพิจารณาได้
สำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ทั้งสองฉบับในที่ประชุมสนช. จะเป็นการพิจารณาลงมติทีเดียวว่าที่ประชุมเห็นชอบทั้งฉบับหรือไม่ ไม่ได้พิจารณาลงมติทีละมาตราที่มีการแก้ไขเหมือนการลงมติในวาระที่ 2 ก่อนหน้านี้ เมื่อถามว่าถ้าที่ประชุมสนช.ลงมติไม่เห็นชอบ ร่างพ.ร.ป.จะตกไปทันทีใช่หรือไม่ นายทวีศักดิ์ ระบุว่า อย่าเพิ่งไปสมมติหรือคาดเดาสิ่งใด เพราะเหตุการณ์ยังไม่เกิด เมื่อวานนี้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ยืนยันว่าการที่ที่ประชุมสนช.จะไม่เห็นชอบร่างพ.ร.ป. เพื่อให้ร่างตกไปและไปร่างใหม่ทั้งฉบับนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 3 ของสมาชิกสนช.ทั้งหมด หรือต้องใช้เสียงถึง 166 เสียง
นายทวีศักดิ์ ระบุว่า ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. มีประเด็นใหญ่อยู่หลายประเด็นที่ทุกฝ่ายกำลังให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเด็นการแบ่งกลุ่มส.ว.เหลือ 10 กลุ่ม การให้ชมรม สมาคมมีสิทธิเสนอชื่อบุคคลมาเป็นส.ว. เป็นต้น
แฟ้มภาพ
ผู้สื่อข่าว :ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร