หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีมติด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 142 เสียงในวาระที่ 1 รับหลักการร่างพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย ไว้พิจารณา พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในเวลา 60 วัน ไปเมื่อเดือนธันวาคม วันนี้ทันตแพทย์หญิงศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ภายใต้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ผ่านนาย นัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ที่เป็นตัวแทนรับหนังสือ เพื่อขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญทบทวนเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย โดยระบุว่า ภาคีวิชาการควบคุมยาสูบมองว่าบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัตินี้มีบางมาตราที่ดูจะเป็นช่องว่างทางกฎหมายเอื้อให้บริษัทบุหรี่ข้ามชาติเข้ามาแทรกแซงนโยบายที่เกี่ยวกับการควบคุมยาสูบของไทย อย่างเช่นในม.8(7) ที่แม้จะมีการบัญญัติให้บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ตั้งขึ้นในประเทศไทยจะมีคนต่างด้าวถือหุ้นได้มากสุดแค่ร้อยละ 49 แต่ก็ไม่มีหลักประกันยืนยันได้ว่าจะไม่มีการใช้นอมินีของต่างชาติเข้ามาถือหุ้นแทนเพื่อแทรกแซงนโยบายการบริหารและการควบคุมยาสูบของภาครัฐ ซึ่งอาจส่งผลต่อนโยบายซื้อใบยาสูบ
ส่วนม.8(9) ที่บัญญัติให้สามารถเข้าร่วมกิจการกับภาครัฐหรือเอกชนทั้งในและนอกราชอาณาจักร หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน หรือถือหุ้นในรูปแบบบริษัทได้ ภาคีวิชาการควบคุมยาสูบก็เห็นว่าไม่สมควรที่จะให้บุคคลต่างด้าวเข้าถือหุ้นร่วมกับภาครัฐ ควรให้รัฐถือหุ้นเต็มร้อยฝ่ายเดียว รวมทั้งไม่ควรให้เข้าร่วมกิจการกับรัฐหรือเอกชนนอกราชอาณาจักรได้ เพราะที่ผ่านมาเคยมีบทเรียนจากต่างประเทศที่ให้โอกาสลักษณะเช่นนี้ แต่สุดท้ายยาสูบในประเทศกลับแข่งกับต่างชาติไม่ได้ และมีการนำเข้ายาสูบจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลาสั้นๆ
นอกจากนี้ไม่ควรให้การยาสูบแห่งประเทศไทย หรือ ยสท. จัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เพราะการตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดต้องเปิดระดมทุนจากเอกชน ซึ่งยาสูบเป็นสินค้าที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ จึงไม่ควรให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในนโยบาย อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะมีการเลิกจ้างพนักงานยาสูบ เพราะเอกชนจะมุ่งลดต้นทุนเพื่อแสวงหากำไรมากขึ้น รวมทั้งเสี่ยงที่จะเกิดการสร้างแรงกระตุ้นให้ประชาชนหันมาบริโภคยาสูบมากขึ้นด้วย