วิทยุการบิน เตรียมเสนอแผนจัดการห้วงอากาศใหม่เข้าครม.เม.ย.นี้ แก้ปัญหาดีเลย์

16 กุมภาพันธ์ 2561, 09:31น.


วิทยุการบินแห่งประเทศไทย เสนอแผนจัดการห้วงอากาศใหม่เข้าที่ประชุม ครม. ภายใน เมษายนนี้ ตั้งเป้าแก้ปัญหาดีเลย์-รับเที่ยวบิน 3 ล้านเที่ยวต่อปี จากการเติบโตของธุรกิจการบินในปัจจุบัน ทำให้มีเที่ยวบินเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง นางสาริณี อังศุสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า เพื่อรองรับธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในแกนหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ บวท.จึงอยู่ระหว่างเสนอแนวทางการบริหารห้วงอากาศใหม่ (Flexible Use of Airspace) ประกอบด้วย จัดโครงสร้างเส้นทางการบินใหม่ (Route Structure) ปรับระเบียบข้อบังคับและออกกฎหมายรองรับทางการบิน และพัฒนาระบบบริหารจัดการและเทคโนโลยีภายในสนามบิน ซึ่งการดำเนินตามแผนดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาดีเลย์ของเที่ยวบิน ตลอดจนปัญหาผู้โดยสารแออัดภายในสนามบิน เพิ่มปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารควบคู่ไปกับการยกระดับความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของบวท.ที่ต้องการเพิ่มปริมาณเที่ยวบินเป็น 3 ล้านเที่ยวบินต่อปีภายใน 20 ปี โดยให้เกิดสถานะการดีเลย์น้อยที่สุด อย่างไรก็ตามขณะนี้ร่างหลักการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาแล้ว คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือน เมษายนนี้



สำหรับแนวทางการจัดโครงสร้างอากาศดังกล่าวจะเริ่มจากจัดระเบียบเส้นทางการบินใหม่โดยจะร่วมมือกับกองทัพอากาศ เพื่อขอใช้ห้วงอากาศร่วมกันระหว่างภาคความมั่นคง และเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้ห้วงอากาศทางการบินจะเพิ่มมากขึ้น โดยสายการบินสามารถเข้าไปใช้ห้วงอากาศฝ่ายความมั่นคงได้ หากไม่มีการใช้งาน ทำให้เส้นทางการบินในอนาคตจะไม่ต้องบินสวนกันจนเกิดกรณีปัญหาดีเลย์อีก ขณะที่ด้านกฎหมายนั้น จะต้องออกกฎหมายใหม่ขึ้นมาให้เข้ากับยุคสมัยและธรรมชาติของตลาดการบินในปัจจุบัน โดยเป็นนโยบายหลักที่ทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตามร่วมกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าวรองรับ ขณะที่ด้านเทคโนโลยีและระบบการจัดการนั้น บวท. จะผลักดันให้ข้อมูลทางอากาศ รวมถึงสัญญาณเรดาร์ต่างๆ ให้สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทุกหน่วยงาน ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้นำระบบ (A-CDM : Airport Collaborative Decision Making) มาใช้ในการตัดสินใจร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ปฏิบัติการในเขตสนามบิน ผ่านการแลกเปลี่ยน/แบ่งปันข้อมูลปฏิบัติการที่เป็นปัจจุบันระหว่างกัน เช่น ข้อมูลสภาพอากาศในบริเวณสนามบินที่อาจส่งผลต่ออัตราการรองรับเที่ยวบิน ข้อมูลการกำหนดหลุมจอด ลำดับการบินเข้า/ออกจากสนามบิน เป็นต้น



 

ข่าวทั้งหมด

X