ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปี รัฐบาลได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงอย่างจริงจังและออกมาตรการเพื่อคุ้มครองแรงงาน ทั้งด้านกฎหมายและนโยบาย รวมถึงจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ กว่า 178 คน ให้มีความเข้าใจแนวทางปฏิบัติ การตรวจสอบดูแลแรงงาน เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน โดยในปี 2560 เพิ่มกว่า 1,500 อัตรา และในปี 2561 เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ 186 อัตรา ทำให้มีกำลังพลปฏิบัติการเพิ่มขึ้น ขณะที่ การใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในช่วง 2 ปี ทำให้สามารถปราบปรามการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และดำเนินคดีได้กว่า 4,240 คดี ขยายผลไปสู่คดีค้ามนุษย์ได้ประมาณ 85 คดี นอกจากนี้ ยังออกมาตรการให้นายจ้าง จ่ายเงินค่าจ้างให้กับแรงงานประมงผ่านระบบธนาคารซึ่งขณะนี้ ดำเนินการไปแล้ว กว่า 5,000 คน
ส่วนความคืบหน้าเครื่องสแกนม่านตาเพื่อพิสูจน์สัญชาติแรงงานในภาคประมง ขณะนี้สามารถดำเนินการสแกนได้ ประมาณ 70,000 ราย ทำให้สามารถทราบอัตลักษณ์ของลูกเรือ และอยู่ระหว่างจัดทำซอร์ฟแวร์อ่านข้อมูลสแกน เพื่อใช้ตรวจสอบข้อมูลลูกเรือ
ด้านการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทย มีแรงงานกว่า 3,800,000 คน เป็นแรงงานผิดกฎหมาย 2,000,000 คน ดำเนินการแก้ไขจนเหลือแรงงานที่ผิดกฎหมาย 800,000 คน ประกอบด้วยแรงงานเมียนมา 300,000 คน แรงงานกัมพูชา 400,000 คน และแรงงานลาว 100,000 คน ซึ่งมีกำหนดดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 มิถุนายน 2561 โดยขณะนี้ได้เร่งรัดกระบวนการ ซึ่งเฉลี่ยต่อวันสามารถ จัดระเบียบแรงงานได้ 4,000 คน
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติ จำนวน 13 ศูนย์ ที่เปิดให้บริการ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - 31 มีนาคม 2561 เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้เข้าสู่ระบบ และพิสูจน์สัญชาติ จัดทำประวัติ ทำใบอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยต่อ ซึ่งเมื่อแรงงานเข้าสู่การพิสูจน์สัญชาติ ทำทะเบียนประวัติจะทำให้ได้รับการคุ้มครองตามกระบวนการตามกฎหมายไทย ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า ทุกมาตรการภายใต้รัฐบาลนี้เป็นการมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์แรงงานประมง เพื่อให้หมดไป เช่นเดียวกับ ผลการจัดอันดับการค้ามนุษย์ (ทริป รีพอร์ต) ของไทยในปีนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันรัฐบาลดำเนินการอย่างเต็มที่ขึ้นอยู่กับ ผลการประเมินว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
ส่วนกรณีการเลือกคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) ที่ใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ในวันนี้ได้มีตัวแทนจากกระทรวงแรงงานเข้าหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายแล้วรวมถึงจะพิจารณาทางอื่น ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าว : เกตุกนก ครองคุ้ม