การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. เพื่อพิจารณาเสนอชื่อสมาชิก 5 คนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งนาย สมชาย แสวงการ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิปสนช. ได้เสนอชื่อสมาชิก 5 คนต่อที่ประชุม เพื่อให้เป็นคณะกรรมาธิการร่วมในร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ประกอบไปด้วย นาย วิทยา ผิวผ่อง, นาย มหรรณพ เดชวิทักษ์, นาย ชาญวิทย์ วสยางกูร, นายแพทย์ เจตน์ ศิรธรานนท์ และนาย สมชาย แสวงการ ขณะที่สัดส่วนกรธ. 5 คน ประกอบไปด้วย นาย ภัทระ คำพิทักษ์, นาย ธนวัฒน์ สังข์ทอง, นาย ศุภชัย ยาวะประภาษ, พล.อ. อัฏฐพร เจริญพาณิช และนาย นรชิต สิงหเสนี ขณะที่กกต.มี 1 คน คือนาย ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. โดยประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การเปิดให้มีการจัดมหรสพระหว่างการหาเสียง การขยายเวลาออกเสียงเลือกตั้งเป็น 07.00–17.00น. และการจำกัดสิทธิ์ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำหรับผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เป็นต้น โดยจะเริ่มประชุมคณะกรรมาธิการร่วมนัดแรกวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 13.30 น.
ส่วนร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. นาย สมชาย เสนอชื่อสัดส่วนของสนช. 5 คน ประกอบด้วยนาย สมคิด เลิศไพฑูรย์, พล.อ. อู๊ด เบื้องบน, พล.ร.อ. ธราธร ขจิตสุวรรณ, นาย ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน และนาย สมชาย แสวงการ ขณะที่กรธ. 5 คน คือ นาย ชาติชาย ณ เชียงใหม่, นาย อัชพร จารุจินดา, นาย อุดม รัฐอมฤต, นาย ปกรณ์ นิลประพันธ์ และนาย อภิชาต สุขัคคานนท์ ส่วนกกต.มี 1 คนก็คือ นาย ศุภชัย ประธานกกต. โดยประเด็นที่ต้องพิจารณาได้แก่การลดกลุ่มอาชีพเหลือ 10 กลุ่ม และการให้องค์กร ชมรม มีสิทธิ์เสนอชื่อบุคคลเป็นส.ว. กำหนดประชุมนัดแรกวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ เวลา 15.30น.
คณะกรรมาธิการร่วมทั้งสองคณะจะมีเวลา 15 วันในการพิจารณาแก้ไขร่าง ซึ่งจะครบกำหนดในช่วงวันที่ 2 มีนาคม เพื่อส่งร่างกฎหมายให้สนช. ลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ถ้าไม่เห็นชอบร่างกฎหมายด้วยเสียงมากกว่า 2 ใน3 กฎหมายจะตกไปทั้งฉบับและต้องเริ่มกระบวนการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเคยผ่านความเห็นชอบจากสนช.ในวาระที่ 2 และ 3 ไปเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่กรธ.และกกต.ยังมีความเห็นแย้งในบางประเด็น จึงเป็นที่มาของการต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมตามม.267 วรรค 5 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ร่างกฎหมายลูกต้องถูกตีกลับมาตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้วย
...
ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร