กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เชิญนาย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยเข้าให้ข้อมูลเรื่องแหวนเพชรและนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในวันนี้ นาย เรืองไกร เปิดเผยว่า เป็นการชี้แจงใน 4 ประเด็น คือทราบหรือไม่ว่าแหวนเพชรและนาฬิกานั้นเป็นรุ่นใด และทรัพย์สินแต่ละรายการมีมูลค่าเท่าใด ซึ่งตอบไปว่าไม่ทราบ ประเด็นที่สอง คือ นาฬิกาเป็นของพล.อ.ประวิตร จริงหรือไม่ จึงตอบไปตามที่เคยได้ยินมาว่าพล.อ.ประวิตร บอกว่าเป็นของเพื่อนที่เสียชีวิตไปแล้ว ประเด็นที่สามคือ ทรัพย์สินที่ได้มาเป็นการได้มาโดยไม่สมควรหรือได้มาเพราะใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบหรือไม่ ก็มองว่าหาเป็นการยืมจากเพื่อนมาจริง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปสืบต่อ เพราะการยืมทรัพย์สินเป็นคนละเรื่องกันกับเรื่องลาภมิควรได้ ส่วนประเด็นสุดท้ายคือ มีเอกสารเกี่ยวข้องที่ยืนยันถึงเรื่องแหวนเพชรและนาฬิกาหรูหรือไม่ ซึ่งนอกจากการตอบคำถามของ ป.ป.ช.แล้ว ยังถามป.ป.ช.ว่าถ้าพล.อ.ประวิตร อ้างว่ายืมนาฬิกามาจากเพื่อนจริง แล้วมีการชำระค่าบริการการยืมจะถือเป็นผลตอบแทนให้เพื่อนหรือไม่
นอกจากนี้ นาย เรืองไกร ยังได้มายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. ในกรณีที่ยืมเงิน 300 ล้านบาทมาจากนาย กำพล วิระเทพสุภรณ์ เจ้าของสถานบริการวิคตอเรีย ซีเครท ที่เพิ่งถูกดำเนินคดีข้อหาค้ามนุษย์ โดยถามว่าการยืมเงิน 300 ล้านบาทนั้นจะมีความผิดตามม.103 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 หรือไม่ เพราะแม้ว่า พล.ต.อ.สมยศ จะยื่นชี้แจงการยืมเงิน 300 ล้านบาทต่อป.ป.ช.แล้วและไม่ถือว่าเป็นการปกปิดบัญชีทรัพย์สิน แต่น่าสงสัยว่ามีการยืมเงินผ่านทางใดมีการทำสัญญาหรือไม่ หลังการชำระคืนได้แจ้งเรื่องต่อ ป.ป.ช. หรือไม่ มีดอกเบี้ยหรือไม่ หากมีดอกเบี้ยผู้ให้ยืมเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการได้ดอกเบี้ยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แต่ถ้าไม่มีดอกเบี้ย ก็เข้าข่ายความผิดม.103 และม.122 ของพ.ร.ป. ป.ป.ช. 2542 ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐรับผลประโยชน์อื่นใด ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย เพราะช่วงเวลาที่มีการยืมเงินนั้น พล.ต.อ.สมยศ มีตำแหน่งทั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า ในวันจันทร์หน้าจะไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เรื่องการตรวจสอบนายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรณีถือครองหุ้นสัมปทาน SCC ของปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งนายแพทย์ ธีระเกียรติ ได้ชี้แจงรายละเอียดการถือครองหุ้นสัมปทานไว้แล้วชัดเจน แต่มีคำถามว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ตามม.184 และม.186 หรือไม่ และต้องหลุดจากการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะในอดีตมีคำวินิจฉัยของศาลไว้ชัดเจนว่ารัฐมนตรีไม่สามารถถือครองหุ้นสัมปทานใดๆได้แม้แต่หุ้นเดียว ถ้าพบการถือครองต้องหลุดจากตำแหน่งทันที ในมุมมองส่วนตัวจึงมั่นใจว่านายแพทย์ ธีระเกียรติ กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญและต้องหลุดจากตำแหน่งแน่นอน
ทั้งนี้ยืนยันด้วยว่าก่อนที่ตัวเองจะยื่นตรวจสอบใคร ไม่ได้ดูแค่กระพี้ แต่ดูไปถึงเปลือกชั้นใน และแก่นของกฎหมายว่าเอาผิดได้จริง ไม่ได้ทำเพราะผลประโยชน์ใดๆ
ทั้งนี้นาย เรืองไกร ได้เข้าไปให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการป.ป.ช. เป็นเวลาประมาณ 30 นาที ก่อนจะกลับออกมาพร้อมระบุสั้นๆว่าได้ชี้แจงข้อมูลให้ป.ป.ช.ในเรื่องนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตรไปครบแล้ว และจะกลับไปทำหนังสือยื่นเรื่องต่อกกต. ถึงกรณีนายแพทย์ ธีระเกียรติ ต่อไป
..
ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร