กฟน. แนะนำวิธีป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร-ไฟไหม้ ในช่วงตรุษจีน

13 กุมภาพันธ์ 2561, 16:27น.


ตามที่สถานีวิทยุ จส.100 ได้รับแจ้งข้อมูลไฟไหม้บ้านเรือนประชาชน อาคารพาณิชย์ มากกว่า 30ครั้งต่อเดือน สถิติเกินครึ่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์มักระบุสาเหตุว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร  นายวิจิตร เสมาเพชร วิศวกร เจ้าหน้าที่ฝ่ายความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวิธีป้องกันเหตุไฟฟ้าลัดวงจร-ไฟไหม้ โดยการตรวจสอบง่ายๆด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเทศกาลตรุษจีนนี้ สำหรับไฟฟ้าลัดวงจร เกิดจากจุด 2 จุด ในวงจรไฟฟ้าที่มีแรงดันต่างกันต่อถึงกัน หรือสัมผัสกันทำให้กระแสไฟฟ้าจํานวนมากไหลผ่านที่จุดลัดวงจรและเกิดความร้อนสูงมากจนเกิดไฟไหม้ได้ ถ้าเกิดกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียได้  ไฟฟ้าลัดวงจรแบ่งได้ 2ประเภท คือ ลัดวงจรระหว่างสาย และไฟฟ้าลัดวงจรลงดิน 



สาเหตุของไฟฟ้าลัดวงจร เกิดได้จากฉนวนไฟฟ้าชำรุด หรือพันเทปจุดต่อสายต่างๆ ไม่ดี ทำให้ตัวนำทองแดงใกล้กัน-แตะถึงกัน รวมทั้งใช้สายไฟใกล้แหล่งที่มีความร้อน ถูกของหนักกดทับ ถูกของมีคมบาด เกิดการเสียดสีเกิดการหักพับบ่อยๆ ใช้กระแสไฟฟ้าเกินกำลังที่สายไฟจะรับได้ เช่น ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายเครื่องกับปลั๊กพ่วงอันเดียว หรือต่อไฟฟ้าจากจุดเดียวไปใช้หลายๆ จุดเมื่อกระแสไฟฟ้าเกินจะทำให้ตัวนำทองแดงร้อนสะสมจนฉนวนที่หุ้มละลายแล้วตัวนำทองแดงแตะถึงกันเกิดไฟฟ้าลัดวงจร จนไฟไหม้ในที่สุด และเกิดจากกระแสไฟฟ้าไหลผ่านฉนวนไฟฟ้าที่มีความเป็นฉนวนลดลง แรกๆ กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านเล็กน้อยเรียกว่ากระแสไฟฟ้ารั่ว เมื่อกระแสไฟฟ้ารั่วเป็นระยะเวลานานๆจนฉนวนเสื่อมไม่เหลือความเป็นฉนวน ก็จะกลายเป็นไฟฟ้าลัดวงจร สามารถป้องกันได้โดยติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว นอกเหนือจากนี้ หากก๊าซหุงต้มรั่วจากถังในห้องครัว ห้ามเปิด/ปิดสวิตช์ไฟฟ้าใดๆ เพราะจะทำให้เกิดประกายไฟ ให้เปิดหน้าต่างและประตู เพื่อระบายไอแก๊สออกข้างนอก 





นายวิจิตร อธิบายถึงวิธีสังเกตความผิดปกติของระบบไฟฟ้า คือ สังเกตสิ่งผิดปกติจากสี กลิ่น เสียง และการสัมผัสอุณหภูมิ เช่น สีของสายไฟเปลี่ยนจากสีเดิม มีกลิ่นไหม้ มีรอยเขม่า หรือรอยไหม้ และหากใช้หลังมือสัมผัสฝาครอบของสวิตช์ไฟหรือปลั๊กไฟแล้วรู้สึกอุ่นหรือร้อน อาจเกิดจากจุดต่อต่างๆ ไม่แน่น เต้าเสียบ เต้ารับหลวม แนะนำประชาชนก่อนออกจากบ้าน สิ่งที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำ คือ ต้องถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งที่ไม่ใช้งานหรือก่อนออกจากบ้าน แม้จะปิดสวิตซ์แล้วก็ควรถอดปลั๊กด้วย สำหรับประชาชนที่มีปัญหาหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร สามารถสอบถามได้ที่การไฟฟ้านครหลวงเขตทั้ง 18 เขตใกล้บ้าน หรือสอบถามที่ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า โทร1130 และสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินเรื่องไฟฟ้าผ่าน แอปพลิเคชั่น MEA Smart Life ได้ตลอด 24 ชั่วโมง



 



ผู้สื่อข่าว:วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์  



 

ข่าวทั้งหมด

X