สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ พร้อมแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มโทษผู้ล่าสัตว์ป่า

12 กุมภาพันธ์ 2561, 11:57น.


กรณีที่นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวก เข้าไปล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี


พลโทชัยยุทธ พร้อมสุข ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเข้าไปพักแรมบริเวณพื้นที่หวงห้าม และคุกคามชีวิตสัตว์ป่า เป็นการละเมิดพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และกระทำผิดหลายฐานความผิด ซึ่งเหตุการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ คณะกรรมาธิการ ขอให้กำลังใจทุกฝ่ายในการรักษากฎหมาย ให้มีความมั่นใจในการปฏิบัติงาน โดยจะเชิญผู้อำนวยการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก หัวหน้าชุดจับนายเปรมชัย พร้อมกับหัวหน้าอุทยานฯ เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ เข้ามาให้ข้อมูล เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองป่าไม้และสัตว์ป่า รวมถึงแสดงความชื่นชมที่ปฏิบัติหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ โดยจะเชิญมาในวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 08.30 น. ที่อาคาร 2 ห้อง 311 รัฐสภา 


อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่คณะกรรมาธิการรับผิดชอบงานด้านกฎหมาย ก็จะมีการพิจารณาด้วยว่า กฎหมายที่มีอยู่ครอบคลุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติงานหรือไม่


ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพระราชบัญญัติและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนั้น มีบทลงโทษในฐานความผิดจากการล่าสัตว์ยังน้อยเกินไปนั้น ขณะนี้กำลังพิจารณาในการเพิ่มโทษกรณีที่เป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยแยกประเภทเป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งสัตว์ป่าสงวนจะมีโทษที่รุนแรง เนื่องจากประเทศไทยมีสัตว์ป่าสงวนเหลืออยู่น้อย 


ด้านนายสนิท อักษรแก้ว หนึ่งในกรรมาธิการ กล่าวว่า บทลงโทษพระราชบัญญัติและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2535 ที่มีการกำหนดโทษไว้ค่อนข้างเบาเช่น ปรับ 50,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 10 ปี ซึ่งหากมีการนำเสนอร่างแก้ไขกฎหมายเข้ามายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  ก็จะมีการเพิ่มอัตราโทษ โดยเฉพาะการเพิ่มโทษของการล่าสัตว์ป่าสงวนอาจต้องเพิ่มโทษถึงขั้นรุนแรง โดยให้มีโทษทางอาญาร่วมด้วยสำหรับผู้กระทำผิด เช่น การจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี เนื่องจากกลุ่มผู้กระทำผิดบางครั้งเป็นกลุ่มนายทุน หรือกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่อาจไม่เกรงกลัวกฎหมาย


สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายเพื่อนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นก็จะนำเข้าสู่ สนช. เพื่อพิจารณาต่อไป


...


ผสข.ปภาดา พูลสุข
ข่าวทั้งหมด

X