การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สำนักงานเขต องค์กรอิสระ ผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่เขตเขตบางขุนเทียน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตบางคอแหลม และเขตยานนาวา เข้าร่วม
นายวิชาญ เอกรินทรากุล รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัชที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ ไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายทางพิเศษไปยังทิศตะวันตกและภาคใต้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจร จากสะพานพระราม9 ขนส่งสินค้าไปยังส่วนภูมิภาค และประชาชนที่จะเดินทางไปทางภาคตะวันตกและภาคใต้จะมีความความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาโครงการจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนและทุกขั้นตอนของการดำเนินโครงการ ทั้งการดูแลผลกระทบด้านสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม การปฎิบัติงานตามมาตรฐานต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับ
ดังนั้นการประชุมในวันนี้ นับเป็นโอกาสดี ที่กทพ.ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อกังวล เพื่อที่กทพ.จะนำไปกำหนดเป็นแนวทางดำเนินโครงการให้มีความสอดคล้องเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมต่อไป
นายวิชาญ กล่าวว่า จะเริ่มก่อสร้างโครงการในเดือนกรกฎาคม ในวงเงินงบประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยจะกู้เงินระยะสั้นมาจ่ายค่าก่อสร้างในงวดแรกกว่า 3,000 ล้านบาท คาดว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ประมาณปี2564 ทั้งนี้ การเวนคืนพื้นที่คาดว่าจะไม่กระทบต่อประชาชนมากนัก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ของกทพ.และกรมทางหลวงบางส่วน จะมีการเวนคืนบ้านของประชาชนเพียงประมาณ 70 ถึง 80 หลังคาเรือน นับเป็นจำนวนที่น้อยมาก โดยท่าทีของประชาชนที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นก็ให้ความสนใจ
สำหรับโครงการจะมีจุดเริ่มต้น จากโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) ของกรมทางหลวง บนถนนพระรามที่ 2 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร หรือทิศทางละ 3 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 จากนั้น แนวเส้นทางจะเบนขวาบริเวณโค้งทางแยกต่างระดับดาวคะนอง เพื่อไปซ้อนบนทางพิเศษเฉลิมมหานครไปจนถึงช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะก่อสร้างสะพานใหม่ ขนาด 8 ช่องจราจร หรือ ทิศทางละ 4 ช่องจราจร ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 จากนั้นแนวเส้นทางจะข้ามถนนพระรามที่ 3 เพื่อไปต่อเชื่อมกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัชที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ รวมระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 5 เขตของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตบางคอแหลม และเขตยานนาวา
ผู้สื่อข่าว : ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ