การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม ล่าสุดที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้มีทั้งสิ้น 71 มาตรา มีการแก้ไข 49 มาตรา ตัดออกจำนวน 2 มาตรา และเพิ่มใหม่จำนวน 5 มาตรา สาระสำคัญสำหรับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวคือ การกำหนดให้จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และจ.ระยอง รวมถึงพื้นที่อื่นๆที่ถูกกำหนดเพิ่มเติมเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อหวังเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม เพิ่มการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และการพัฒนาเมืองต่างๆให้มีความทันสมัย
ด้านนายสาธิต ชาญเชาวน์กุล กรรมาธิการข้างน้อย ยังได้แสดงความเห็นเพิ่มว่า การให้คนต่างด้าวที่มาลงทุนมีสิทธิได้มาซึ่งที่ดิน รวมถึงการให้บุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถพิเศษซึ่งเป็นคนต่างด้าวมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตพื้นที่ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจและสังคมได้ ทั้งการแอบอ้างว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษ เพื่อให้เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อาจจะนำไปสู่การเกิดการเก็งกำไรที่ดินและอาจส่งผลเสียหายต่อประเทศระยะยาว
จากนั้นสมาชิกสนช.ได้อภิปรายต่อในประเด็นการส่งเสริมให้บุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถพิเศษที่อยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าวได้รับการลดหย่อนภาษี สิทธิเกี่ยวกับการเข้าเมือง และการขออนุญาตทำงานว่า เหตุใดจึงต้องมีการลดหย่อนภาษีให้บุคคลที่เข้ามาทำงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แล้วจะรู้ได้เช่นไรว่าบุคคลที่อ้างว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถจะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่พัฒนาประโยชน์ให้แก่พื้นที่อีอีซีได้จริง
ขณะที่ นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสนช. อภิปรายแสดงความกังวลเรื่องผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาเป็นเขตพัฒนาพิเศษ จะส่งผลให้มีบุคคลหลากหลายมากขึ้น และอาจจะเกิดปัญหาด้านสังคมตามมาได้ จึงขอเสนอให้มีการเพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสังคมเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการอีอีซีด้วย
นายวิษณุ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้แจงกลับว่า ได้กำหนดให้คณะกรรมการอีอีซีชุดดังกล่าวมีรัฐมนตรีร่วมเป็นกรรมการทั้งสิ้น 11 กระทรวง และได้เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาแล้ว ยืนยันว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณารอบด้านแล้ว
ทั้งนี้ หลังการอภิปรายที่ประชุมสนช. ได้ลงมติวาระ 3 เห็นชอบประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 170 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 10 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
ผู้สื่อข่าว : ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร