กรณีที่หากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากยังมีความเห็นแย้งกับสนช.ในหลายประเด็น
นาย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าคงจะดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อทบทวนร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ สำหรับในส่วนของร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คงไม่มีอะไรประเด็นให้น่ากังวล นอกจากประเด็นการให้มีผู้ช่วยคนพิการกาบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งก็คงไม่จำเป็นจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นกัน แต่ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง สว. ที่มีการแก้ไขในหลายประเด็นพอสมควรทั้งการลดกลุ่มอาชีพ การเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกมาเลือกกันเองแทนเลือกไขว้ รวมถึงการให้ชมรม สามารถเสนอชื่อบุคคลมาเป็นส.ว.ได้นั้น ยอมรับว่าอาจต้องพิจารณามากและยังมีความเป็นห่วงจากหลายฝ่ายอยู่ไม่น้อย
ขณะที่มีข้อกังวลว่าอาจมีการคว่ำร่างกฎหมาย เมื่อร่างถูกส่งมาให้สนช.พิจารณาอีกครั้งนั้น นาย พรเพชร เชื่อว่า คงทำได้ยาก เพราะต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 3 แต่ทั้งนี้ก็เป็นสิทธิของสมาชิก ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายเริ่มมีความเข้าใจที่ตรงกันแล้ว จึงคงไม่มีการคว่ำร่างให้ตกไป และก็ไม่เห็นด้วยที่จะมีการคว่ำร่าง เพื่อใช้เป็นเทคนิคทางกฎหมาย ช่วยยื้อเวลาให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้อยู่ต่อ และเป็นการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ส่วนการจะส่งร่างให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต้องมีเหตุผลรองรับที่ดีพอ และต้องมีสมาชิก สนช.เข้าชื่อกันอย่างน้อย 1 ใน 10 ของสมาชิกสนช.ทั้งหมด หรืออย่างน้อยคือ 25 คน
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีหนึ่งในกรรมการ กกต. อ้างว่า มีสมาชิกสนช.โทรศัพท์ไปล็อบบี้ให้กกต.เห็นแย้งเรื่องการจัดให้มีมหรสพนั้น ยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้ หากมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ก็คงจะไปหาข้อยุติในการพิจารณาประเด็นต่างๆในช่วงนั้นอีกครั้งหนึ่ง และสุดท้ายร่างพ.ร.ป. ทั้งสองจะต้องเข้าสู่ที่ประชุม สนช. เพื่อให้สนช.ลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่อีกครั้ง
ขณะที่การประชุมสนช. ล่าสุดที่ประชุมสนช. ได้ลงมติวาระที่ 3 เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 196 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 6 เสียง ซึ่งร่างพ.ร.บ. กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเพื่อถ่ายทอดความรู้ และมีคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อยกระดับการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยด้วย
....
ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร