การบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 9 เปิดเผยว่า กรมชลประทาน แบ่งสัดส่วนน้ำไว้สำหรับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ร้อยละ 15 ภาคอุปโภค บริโภค ร้อยละ 15 ภาคการเกษตร ร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือคือการรักษาระบบนิเวศน์ พร้อมยืนยันว่ากรมชลประทานจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเพียงพอทุกภาคส่วน โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออก ประกอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรม การเกษตรที่มีมูลค่าสูง
ขณะเดียวกันกรมชลประทานได้วางระบบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2560 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563 โดยเป็นการวางท่อระบายน้ำ เพื่อระบายออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น รวมทั้งวางท่อส่งน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝนให้ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานยังได้เพิ่มปริมาณความจุของอ่างเก็บน้ำอีก 7 แห่ง เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในปริมาณที่เพิ่มขึ้น
ด้านนายโชคชัย ทวิสุวรรณ ผู้จัดการแผนกวิศวกรรมวางแผนโครงการ บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ East Water เปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่ EEC มีความต้องการใช้น้ำ 315 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อีก 10 ปีข้างหน้า ความต้องการจะเพิ่มขึ้นอีก 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และอีก 20 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้น 250 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ดังนั้นจึงต้องสร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ว่าจะมีน้ำเพียงต่อความต้องการใช้
โดยจังหวัดที่มีการใช้น้ำมากที่สุดใน EEC คือ จังหวัดระยอง เนื่องจากมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมทั้งการพัฒนาในพื้นที่อ่าวไทย จึงคาดว่าจะใช้น้ำร้อยละ 60 ของทั้งหมด ขณะที่จังหวัดชลบุรี มีทิศทางเติบโตที่มากขึ้น คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP โดยปัจจุบันจังหวัดชลบุรีต้องการใช้น้ำร้อยละ 20-30 แต่ในอนาคต คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำที่สูงถึงร้อยละ 80 ส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา จะเป็นจังหวัดที่มีความต้องการใช้น้ำน้อย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมอาหารและอิเล็กทรอนิกส์ ใช้น้ำเพียงร้อยละ 10 ของทั้งหมด
...
ผสข.ปภาดา พูลสุข