การลงพื้นที่ติดตามโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงระบบชลประทาน เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งคลองท่าลาด คลองหลวง ตำบลพานทอง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาที่อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า ในอดีตพื้นที่จังหวัดชลบุรีประสบปัญหาระบบชลประทานมีไม่เพียงพอ เมื่อถึงฤดูฝนน้ำท่วมติดต่อกันเป็นเวลานาน น้ำท่วมซ้ำซาก ท่วมปีละ 5-7 ครั้ง มีปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก ในพื้นที่ประมาณ 8 แสนไร่ ขณะเดียวกันในฤดูแล้ง ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จากการเติบโตของชุมชนเมือง โรงแรม การท่องเที่ยว สวนทางกับการใช้น้ำจำนวนมาก ในวันนี้จึงต้องลงพื้นที่ติดตามโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงระบบชลประทาน ตามอนุสัญญาทั้งหมด 8 เดือนแล้ว บางโครงการใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท บางโครงการที่จะต้องมีการวางระบบท่อส่งน้ำผ่านชุมชนเมือง อาจจะต้องใช้งบประมาณถึง 1,000 ล้านบาท แต่เมื่อเสร็จสิ้นจะได้รับประโยชน์มหาศาล คือ สามารถบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำท่าลาด ลุ่มน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี และเป็นการเตรียมพร้อมรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะขาดแคลนน้ำไม่ได้ เนื่องจากจะต้องใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และในอนาคตจะต้องมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องสอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำในภาคการเกษตรและภาคการให้บริการด้วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีการทำเกษตรกรรม และเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ที่มีความต้องการใช้น้ำจำนวนมาก
กรมชลประทานได้วิเคราะห์ปริมาณการใช้น้ำในพื้นที่ พบว่าปัจจุบันใช้น้ำ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และในอีก 10 ข้างหน้า จะมีปริมาณการใช้น้ำสูงถึง 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี กรมชลประทานจึงต้องจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำให้เพียงพอ และในพื้นที่จังหวัดชลบุรีถือว่าโชคดีที่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอ แต่ต้องหาพื้นที่เก็บน้ำ ให้มากขึ้น
รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ระบุว่า ในวันนี้จะลงพื้นที่แยกผันน้ำ ที่มีการจัดการจราจรทางน้ำ ไปดูสถานีสูบน้ำพานทอง และอ่างเก็บน้ำบางพระ รวมทั้งลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรีด้วยว่ามีความต้องการอะไรบ้าง