การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม โดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสนช. กล่าวว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงค์ ก่อตั้งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546 ซึ่งในหลายปีหลังต่อมา ธนาคารต้องประสบกับปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และสินเชื่อคงค้างจำนวนมากหลายปีติดต่อกัน จึงมีคำถามว่าถ้ามีการฟื้นฟูให้อำนาจกระทรวงการคลังถือหุ้นเกินร้อยละ 49 หรือคือการเพิ่มทุนเสริมสภาพคล่องให้ไอแบงค์ 18,000 ล้านบาท และมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากคดีความของผู้ที่ทำให้ไอแบงค์เสียหายคืนมาแล้ว จะสามารถทำให้ไอแบงค์ฟื้นฟูได้มากเพียงใด และจะไม่กลับไปสู่ปัญหาเดิมอีกจริงหรือไม่
ขณะที่นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกสนช. ระบุว่าเห็นด้วยกับการให้กระทรวงการคลังสามารถถือหุ้นธนาคารเพิ่มได้เป็นร้อยละ 49 เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้ธนาคาร แต่สิ่งที่ตัวเองติดใจคือ ในช่วงที่ไอแบงค์เคยมีปัญหาสภาพคล่องมาตั้งแต่ปี 2550 และได้ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยจนธนาคารกลับมามีสภาพคล่องได้อีกครั้ง แต่หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปีกลับพบว่าไอแบงค์ มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และสินเชื่อคงค้างอีกครั้ง โดยเฉพาะในปี 2555 ที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก้าวกระโดดจากร้อยละ 8.31 ในปี 2554 มาสูงถึงร้อยละ 20 ในปีดังกล่าว จึงน่าสงสัยว่าเหตุใดระบบที่เคยมีการแก้ไขมาแล้วกลับมาเกิดปัญหาเดิมขึ้นมา จนนำไปสู่ข้อสงสัยที่ว่าระบบการแก้ปัญหาไม่ดีหรือแท้จริงแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการจัดการ ที่สำคัญคือหลังจากปี 2555 ที่ไอแบงค์เริ่มประสบปัญหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กลับไม่แก้ไขและปล่อยให้ดำเนินกิจการต่อไป จนในที่สุดก็เกิดเป็นคดีความฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ธนาคารว่าเป็นต้นเหตุทำให้ไอแบงค์เสียหายและเป็นที่มาที่ขอให้สนช.แก้ไขร่างฯเพื่อเพิ่มอำนาจให้กระทรวงการคลังเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องไอแบงค์
ด้านนายวิทัย รัตนากร รักษาการผู้จัดการไอแบงค์ กล่าวว่า เงินเพิ่มทุน 18,000 ล้านบาทจะช่วยเสริมสภาพคล่องในการช่วยเหลือผู้ทำธุรกรรมกับธนาคาร ทั้งนี้ไอแบงค์ ได้กำหนดทิศทางธุรกิจใหม่เป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือ เน้นการทำธุรกิจและให้สินเชื่อกับประชาชนชาวมุสลิมเป็นสำคัญ แนวทางที่สอง คือ เน้นการทำสินเชื่อกับบริษัทใหญ่ที่มีประสิทธิภาพคืนสินเชื่อได้ เพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้สินอีก
หลังการอภิปรายที่ประชุมสนช. ได้ลงมติในวาระที่ 1 รับร่างพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 167 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 14 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาฯ จำนวน 22 คน กำหนดเวลา 30 วัน
ผู้สื่อข่าว : ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร