หลังคณะอนุกรรมการฯพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ได้ตรวจพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสร็จแล้วนั้น
นาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เปิดเผยว่า ขณะนี้กรธ.ได้รับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจากคณะอนุกรรมการฯแล้ว โดยการประชุมกรธ.วันนี้จะสั่งตั้งคณะทำงานย่อยขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อให้ไปศึกษาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่สนช.เสนอมาในทุกประเด็น เพราะตอนนี้กรธ.ตามไม่ทันว่ารายละเอียดต่างๆถูกแก้ไปมากเท่าใด
โดยประเด็นใหญ่ของร่างที่มีการปรับแก้ในร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ที่ปรับการเลือกไขว้มาเป็นเลือกกันเอง ปรับแก้ลดกลุ่มอาชีพจาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม และปรับแก้ให้ชมรม สมาคมสามารถเสนอบุคคลมาเป็นส.ว. ได้นั้น นาย มีชัย ระบุว่า ที่กรธ.ให้มี 20 กลุ่มเพราะคำนวณแล้วว่าเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม มีการกระจายอาชีพและความหลากหลายอย่างทั่วถึง ถ้ามีกลุ่มมากไปหรือน้อยไปจากนี้ มองว่าจะเป็นปัญหาได้ อย่างเช่นกลุ่มสตรีที่ตอนนี้สนช.แก้นำไปควบรวมกับกลุ่มอื่น จากเดิมที่กรธ.ให้แยกเป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง ก็มองว่าอาจจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม และทำให้มีสตรีในส.ว.น้อย หรืออาจไม่มีเลย ทั้งๆที่กรธ.อยากให้มีสตรีในสภามากขึ้น ประเด็นเช่นนี้จึงถือเป็นเรื่องที่สนช.อาจยังไม่เข้าใจเจตนาของกรธ. ในทางกลับกันก็มองว่าเหตุใดต้องมี 10 กลุ่ม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องดูเหตุผลของสนช. และทำความเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายร่วมกัน ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะกลับไปใช้วิธีเดิม นาย มีชัย ระบุว่า ขึ้นอยู่กับการต้องอธิบายให้สนช.เข้าใจถึงเหตุผลและเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
ส่วนการให้ชมรม สมาคม เสนอผู้มาเป็นส.ว.ได้นั้น ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดว่าทุกคนมีสิทธิสมัครเป็นส.ว. แต่การให้ชมรมเสนอย่อมเป็นการจำกัดสิทธิบุคคลไปในตัว ทั้งนี้ขออย่าเพิ่งไปพูดว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะจะต้องไปพูดคุยกันกับสมาชิกในกรธ.ก่อน ขณะที่การให้เลือกกันเองแทนการเลือกไขว้ นาย มีชัย ก็มองว่าที่กรธ.ให้เลือกไขว้นั้น เพราะดูแล้วว่าสามารถกั้นการบล็อคโหวตได้ อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งก็เห็นชอบกับวิธีนี้ เพราะเชื่อว่าการบล็อคโหวตจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากผู้เลือกจะไม่รู้มาก่อนว่าตัวเองต้องไปเลือกกลุ่มใด อีกทั้งการเลือกไขว้ กรธ.ยังได้วางหลุมพรางกันการทุจริตไว้อีกมาก ซึ่งถ้าจับได้ว่ามีผู้ทุจริตและมีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวก็นำไปสู่การยุบพรรคได้ ซึ่งการเปลี่ยนมาเลือกกันเองต้องดูว่าสุจริต เที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งก็ต้องฟังเหตุผลจากสนช.ด้วย แต่ทั้งนี้เชื่อว่าการเลือกไขว้ดีและสุจริตกว่า ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่กรธ.ติดใจมากที่สุดประเด็นหนึ่ง แต่คงไม่ถึงขั้นต้องจำลองการหยั่งเสียงลงคะแนนของแต่ละฝ่ายว่าจะเอาทางใด เพราะเป็นเรื่องจินตนาการเกินไป