หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) หรือ EECโดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุม
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้า พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ....โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. เสร็จแล้วทุกมาตรา และคาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาเสร็จในเดือน ก.พ 2561 ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ที่ประชุมยังได้รายงานผลการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ปี 2560 โดยเป็นเงินลงทุน 296,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 49 เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนในปี 2561 ตั้งเป้าหมายการลงทุนไว้ 300,000 ล้านบาท โดยร้อยละ 84 เป็นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีสูง
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC เพิ่มเติม คือ ในพื้นที่เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ ให้ได้รับสิทธิ์ประโยชน์เพิ่มเติ่มยกเว้นภาษีนิติบุคคล เพิ่ม 2 ปี รวม 8 ปี ลดหย่อนภาษีนิติบุุคคล ร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี ในเงื่อนไขต้องฝึกอบรมพนักงาน มากกว่าร้อยละ 10 ของพนักงานทั้งหมด เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้รับสิทธิ์ประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล ร้อยละ 50 เพิ่ม 5 ปี มีเงื่อนไขต้องฝึกอบรมพนักงานมากกว่า ร้อยละ 10 ของพนักงานทั้งหมด ส่วนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หรือเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ได้รับสิทธิ์ลดหย่อน ภาษีนิติบุคคล ร้อยละ 50 เพิ่ม 3 ปี มีเงื่อนไขต้องฝึกอบรมพนักงานมากกว่าร้อยละ 5 ของพนักงานทั้งหมด ที่ประชุมยังเห็นชอบ การประกาศเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่ม 19 แห่ง ประกอบด้วยจังหวัดระยอง 6 แห่ง ชลบุรี 12 แห่งและฉะเชิงเทรา 1 แห่ง ทำให้มีพื้นที่ใหม่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 26,200 ไร่ ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้เพิ่มเรื่องดิจิทัลและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีสาระสำคัญคือมุ่งพัฒนาโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อเชื่อมโยงทางบกน้ำอากาศในพื้นที่ EEC และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้พื้นที่ EEC เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและเชื่อมต่อกรุงเทพฯได้อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผล ในการปฏิบัติได้วางโครงสร้าง ไว้จำนวน 168 โครงการ ในวงเงินงบประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นแผนระยะเร่งด่วนปี 2560-2561 จำนวน 99 โครงการ เช่น สถานีรถไฟอู่ตะเภา อาคารผู้โดยสารท่าเรือจุกเสม็ด การปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง ส่วนแผนระยะการ 3 ปี เช่น การก่อสร้างรถไฟทางคู่แหลมฉบัง-มาบตาพุด-ระยองจันทบุรี-ตราด การก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 อากาศยานอู่ตะเภา และแผนในอนาคตตั้งแต่ปี 2565 จะเป็นแผนที่รองรับการพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน พร้อมเชื่อมโครงข่ายคมนาคมกับภูมิภาคอื่นๆและประเทศเพื่อนบ้าน
ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC สาระสำคัญยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวใน EEC สู่การท่องเที่ยวระดับโลก โดยประมาณการว่าใน 4 ปี หากระบบคมนาคมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสมบูรณ์จะมีนักท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้นเป็น 47 ล้านคนจาก 30 ล้านคนในปัจจุบันและประชาชนจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 5 แสนล้านบาท จาก 3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน