ศาลอาญานัดอ่านคำสั่ง ในคดีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพระสุเทพ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ศอฉ. ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฐานร่วมกัน ก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จาก การขอคืนพื้นที่ การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เมื่อปี2553 จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยวันนี้ศาลอาญานัดตรวจพยานหลักฐาน และฟังคำสั่งวินิจฉัย ในคดีที่อัยการยื่นฟ้อง
โดยผู้ถูกฟ้อง ทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัย ประเด็นข้อกฎหมาย เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ไม่มีอำนาจสอบสวน และที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ก็ได้รับเรื่องที่มีการกล่าวหา นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบในเรื่องเดียวกันนี้ไว้แล้ว
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ขณะนั้น นายอภิสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนพระสุเทพ เป็นรองนายก และ ผู้อำนวยการ ศอฉ. มีคำสั่งลับอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหาร ใช้อาวุธและกระสุนปืนจริง เข้าขอคืนพื้นที่ การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตาม พร.ก.ฉุกเฉิน จึงไม่ใช่การกระทำโดยส่วนตัว หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ และขณะนั้นการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
ส่วนการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ระงับเหตุไม่เป็นไปตามหลักสากล และไม่อยู่ในเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด การกระทำของนายอภิสิทธิ์ และพระสุเทพ จึงเข้าข่ายความผิดการใช้อำนาจโดยมิชอบ เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ใช่คดีฆาตกรรม ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง และไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา
ส่วนที่ฟ้องว่าเป็นความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ก็เป็นความผิดกรรมเดียว สืบเนื่องกัน อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้องคดี และเป็นหน้าที่ของป.ป.ช.ในการชี้มูลต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลังการอ่านคำสั่งศาลแล้ว ผู้พิพากษา ได้อ่านความเห็นของนายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่มีความเห็นแย้งว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และอัยการสูงสุด สั่งฟ้องคดีถูกต้องตามกฎหมาย และศาลอาญามีอำนาจพิจารณาคดีได้ โดยให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อไป
โดยศาลยังยืนยันคำวินิจฉัยเดิมคือยกฟ้องคดีดังกล่าวและเป็นหน้าที่ของป.ป.ช.ในการชี้มูล