ปธ.บอร์ดการท่าเรือแห่งประเทศไทยพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงระดับภูมิภาค

30 มกราคม 2561, 13:28น.


การตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบัง ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี  ของนายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในระยะเวลา 1 ปีกว่าของรัฐบาลที่เหลืออยู่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าที่จะดำเนินพันธกิจให้เสร็จสิ้น ประกอบด้วย เตรียมการประมูลท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยสรรหาที่ปรึกษาออกแบบการประมูล สรรหาผู้ประกอบการ และวางระบบโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำให้เสร็จสิ้น นอกจากนี้ในพื้นที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 ตั้งเป้าให้มีตู้ขนถ่ายสินค้า 2,000,000 ตู้ในระบบทางรถไฟ พร้อมนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ด้านการส่งออก ซึ่งหากทำได้จะสามารถประหยัดระยะเวลาขนส่งได้ 5 นาทีประหยัดงบประมาณปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท รวมถึงตั้งเป้าจัดระบบการขนส่งถ่ายสินค้าให้มีความเป็นระเบียบยิ่งขึ้น และดำเนินการเรื่องต่ออายุสัมปทาน ท่าเรือ B2, B3, B4 ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2563 รวมทั้งตั้งเป้าจะปรับท่า B2, B3, B4 ให้เหลือ 2 ท่า เพื่อขยายพื้นที่หน้าท่าเทียบเรือจากพื้นที่ 300 เมตร เป็น 450 เมตร  





นายสุรงค์ ยังได้มอบนโยบายให้กับคณะทำงาน การท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยยอมรับว่า บทบาทภารกิจของการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้น จากที่เป็นจุดขึ้นลงสินค้าต้นทางปลายทาง จะกลายเป็นจุดเชื่อมโยงเปลี่ยนถ่ายสินค้าในระดับภูมิภาคและระดับโลกในอนาคต ทั้งนี้แหลมฉบังยังมีข้อพิเศษกว่าท่าเทียบเรืออื่นๆ โดยมี 3 ระบบ ประกอบด้วย ระบบรถยนต์ ที่ได้ขยายพื้นที่จราจรให้รถยนต์เข้าออก ให้มีประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้าย  ระบบขนส่งทางราง ที่จะขยายการส่งขนตู้สินค้าให้ได้ ร้อยละ 30 จาก 18 ล้านตู้ ให้มี 6,000,000 ตู้ ขนถ่ายทางรถไฟ พร้อมเชื่อมโยงภูมิภาคอื่นๆ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ 4 มณฑลในตอนใต้ของจีน และเชื่อมโยงระบบท่าเรือชายฝั่งให้สามารถเชื่อมโยง ได้กว่า 100 ประเทศ



ส่วนด้านการแข่งขัน ได้มอบนโยบายให้การขนส่งมีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างความสามารถทางการแข่งขัน  ในด้านการบริหารจัดการ แม้จะเชื่อมั่นการบริหารจัดการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในบางส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งอาจไม่ใช่การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ แต่ใช้ระบบแขนกล และนำเทคโนโลยีระบบการยกถ่ายสินค้า เพิ่มการตรวจสอบสินค้าที่ต้นทางให้บ่อยขึ้น รวมถึงการแก้กฎกติการะเบียบของรัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมอบนโยบายด้านต้นทุน ที่จะต้องใช้ต้นทุนต่ำสุด แต่มีประสิทธิภาพสูงสุด





ในการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ ได้มีการรายงานผลประกอบการของท่าเรือแหลมฉบัง ในปีงบประมาณ 2556 - 2560 ซึ่งมีผลประกอบการด้านสินค้าเพิ่มขึ้น 610,000 ล้านอีทียู มีผลประกอบการด้านเรือในปี 2560 จำนวน ้13,461 เที่ยว เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 854 เที่ยว มีรายได้ในปี 2560 จำนวน 8,041,410,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 380,070,000 บาท ขณะที่กำไรในปี 2560 มีจำนวน 6,087,170,000 บาทเพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 347,540,000 บาท ทั้งนี้ท่าเรือแหลมฉบัง  ประกอบด้วย ท่าเทียยเรือสินค้าทั่วไป ท่าเทียบเรือ RoRo ท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ ท่าเทียบเรือตู้สินค้า มีพื้นที่ทางบก 6,341 ไร่ และบางส่วนถ่มเป็นพื้นที่ทางทะเล หากรวมกันมีพื้นที่ ประมาณ 8,725 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอศรีราชาและอำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี

ข่าวทั้งหมด

X