โฆษกกรธ. รับ มีการหารือ ร่างพรป.สว.ขัด รธน.หรือไม่ ก่อนส่งข้อท้วงติงให้สนช.พิจารณา

29 มกราคม 2561, 17:30น.


หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ในวาระ 3 ไปแล้ว แต่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ที่มีการกำหนดให้จำนวนส.ว.ครึ่งหนึ่ง หรือ 100 คนจากส.ว.ทั้งหมดมาจากการเสนอชื่อของกลุ่มชมรม หรือ สมาคม อาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560



นาย ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เปิดเผยว่า ส่วนตัวเห็นว่ากรณีนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในม.107 วรรค 1 เพราะนอกจากจะมีการกีดกั้นไม่ให้ผู้ประสงค์สมัครเป็นส.ว. สามารถสมัครได้ตามความต้องการของตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นอิสระ ความไม่เท่าเทียมกันแล้ว ยังทำให้ผู้ที่เป็นส.ว.บางส่วนไม่ได้เลือกกันเอง แต่ถูกเลือกโดยชมรม ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการนำประเด็นนี้ไปหารือในที่ประชุมกรธ.พร้อมกับกรณีที่สนช.ขยายเวลาบังคับใช้ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ออกไปอีก 90 วันว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งนับแต่วันที่มีมติของสนช. กรธ.มีเวลา 10 วันในการจัดทำความเห็นและทำเป็นมติของกรธ.ส่งไปให้สนช.พิจารณาว่ามีกรณีใดในร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่



สำหรับการขยายเวลาบังคับใช้ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ออกไป 90 วัน ส่วนตัวมองว่าในเชิงเทคนิคกฎหมายไม่มีปัญหาว่าจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีประเด็นใดที่ส่อถึงการล้มล้างเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เป็นเพียงแค่การขยายเวลาออกไป แต่ถ้าถามถึงความเหมาะสมและประเด็นทางการเมืองก็เป็นความรู้สึกของแต่ละคนที่ตัวเองไม่อาจตอบได้



ทั้งนี้หากกรธ.มีมติเห็นว่าร่างพ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับนี้มีกรณีใดขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญก็ต้องส่งหนังสือเป็นข้อท้วงติงให้สนช.ไปพิจารณา และอาจนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย สนช. กรธ. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ซึ่งต้องหาข้อสรุปให้ได้ แต่หากสนช.ยืนยันว่าจะใช้ร่างเดิมที่มีการปรับแก้ในที่ประชุม ก็อาจเป็นไปได้ที่จะมีผู้ไม่เห็นด้วยหรือมีสมาชิกสนช.ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่ขัดแย้ง ก็สามารถส่งร่างไปให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯได้ต่อไป แต่หากศาลรัฐธรรมนูญมองว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็ต้องส่งร่างดังกล่าวกลับมาให้สนช.แก้ไขเฉพาะประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องยกร่างใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้หากขั้นตอนไปถึงกระบวนการดังกล่าวจริง ก็ตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลานานกี่เดือน แล้วจะส่งผลถึงโรดแม็ปหรือไม่

ข่าวทั้งหมด

X