อัฟกันเตือนอาจมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอีก/วันรำลึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์/ตุรกีเรียกร้องสหรัฐฯถอนทหารออกจากซีเรีย

29 มกราคม 2561, 06:12น.


จากเหตุนักรบของกลุ่มตอลีบานใช้รถพยาบาลบรรทุกระเบิดก่อเหตุในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 27 มกราคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 103 ราย และบาดเจ็บอีก 235 คน สร้างความสูญเสียรุนแรงที่สุดในกรุงคาบูลนับตั้งแต่เกิดเหตุระเบิดรถบรรทุกใกล้กับสถานทูตเยอรมนีเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 150 ราย และเมื่อราว 1 สัปดาห์ก่อนตอลีบานยังโจมตีโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลในกรุงคาบูล มีผู้เสียชีวิต 25 ราย



ทำเนียบอัฟกานิสถานประกาศไว้ทุกข์ทั่วประเทศ 1 วัน และสั่งลดธงลงครึ่งเสาเมื่อวันอาทิตย์ ส่วนฝ่ายความมั่นคงเตือนว่าอาจจะมีการก่อเหตุโจมตีเกิดขึ้นอีกหลังจากนี้ และการที่เหตุโจมตีเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ได้รับความคุ้มครองแน่นหนาที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงคาบูล ทำให้ชาวอัฟกันจำนวนมากมีความกังวล



ขณะที่นานาชาติและองค์กรระหว่างประเทศต่างออกมาประณามการก่อเหตุ



วันที่ 27 มกราคมของทุกปีคือวันครบรอบการปลดปล่อยค่ายเชลย เอาซ์วิทช์-เบอร์เคอเนา (Auschwitz-Birkenau) ซึ่งองค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็นวันรำลึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสากล เพื่อเป็นการรำลึกถึง และเป็นเกียรติแก่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ โดยในการจัดกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์ กลุ่มผู้รอดชีวิตจากเหตุสังหารหมู่ ผูกผ้าพันคอลายทางเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงชุดนักโทษที่ถูกกักกันในค่ายแรงงานเอาชวิตซ์ในโปแลนด์ และไปจุดเทียน วางลงบนรางรถไฟเส้นทางไปยังค่ายแรงงาน ท่ามกลางความกังวลว่าการเมืองหลายชาติในยุโรปกำลังกลับไปสู่ยุคขวานาซีอีกครั้ง เนื่องจากพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นล้วนแต่เป็นพรรคการเมืองที่มีรากฐานมาจากแนวคิดแบบนาซียุคใหม่



รัฐบาลอิสราเอลประท้วงร่างกฎหมายของโปแลนด์ที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีเนื้อหาระบุให้การกระทำใด ๆ ที่พาดพิงว่าโปแลนด์มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่ก่อการโดยกองทัพนาซี ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย รวมถึงการอ้างถึงข้อความค่ายสังหารโปแลนด์ก็อาจมีโทษจำคุกถึง 3 ปี  นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล ระบุว่า ไม่มีใครสามารถแก้ไขประวัติศาสตร์และบิดเบือนว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่เคยเกิดขึ้น แต่ทางการโปแลนด์ ชี้แจงว่า กฎหมายนี้คือการย้ำถึงความจริงที่ว่า แม้ค่ายสังหารจะอยู่ในโปแลนด์ แต่ก็ดำเนินการโดยกองทัพนาซีที่รุกรานโปแลนด์ในช่วงเวลานั้น



ส่วนที่เมืองโคโลญจน์ของเยอรมนี ตำรวจราว 2,000 นายสลายการชุมนุมของกลุ่มชาวเคิร์ดราว 15,000 คน ที่ชุมนุมปิดถนนประท้วงการที่ตุรกีส่งกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่ทางตอนเหนือของซีเรียเพื่อปราบปรามกองกำลังชาวเคิร์ด แต่พบว่าผู้ชุมนุมถือป้ายที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของพรรคแรงงานชาวเคิร์ด (พีเคเค) ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในเยอรมนี เพราะกลุ่มพีเคเคอยู่ในกลุ่มที่ตุรกีและชาติตะวันตกระบุว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย



ส่วนทางการตุรกี เรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกไปจากเมืองมานบิชที่ชาวเคิร์ดครอบครองทางตอนเหนือของซีเรีย หลังจากที่สหรัฐฯ แจ้งต่อตุรกีว่า จะหยุดส่งอาวุธให้แก่กองกำลังวายพีจีที่กำลังสู้รบกับตุรกี โดยที่เขตอาฟรินในซีเรีย ซึ่งถูกกองทัพตุรกีโจมตีอย่างต่อเนื่องทำให้มีประชาชนจำนวนมากต้องอพยพออกจากเมือง และกลายเป็นการเปิดแนวรบใหม่ในสงครามกลางเมือง 7 ปีในซีเรีย โดยตุรกีมีความเห็นว่า วายพีจีเป็นพวกเดียวกับกลุ่มพีเคเค จึงไม่พอใจที่สหรัฐฯ สนับสนุนทั้งอาวุธและฝึกทหารให้วายพีจี



ทำเนียบประธานาธิบดีตุรกีแถลงว่าที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ รับปากว่า สหรัฐฯ จะไม่จัดหาอาวุธให้วายพีจีอีกต่อไป รวมทั้งจะร่วมมือกับตุรกีอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด



ส่วนการเมืองอียิปต์ มีผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีขอถอนตัวอีก 2 คนเมื่อวันเสาร์ ทำให้ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี มีโอกาสชนะเลือกตั้งมากขึ้นในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 มีนาคม



การเมืองโคลอมเบีย พรรคการเมืองฟาร์ก ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตสมาชิกกลุ่มกบฏ เริ่มการรณรงค์หาเสียง เลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาในปีนี้ โดยให้คำมั่นว่าจะปราบปรามการทุจริตและต่อสู้กับความยากจน



นายกรัฐมนตรีฮุนเซน แห่งกัมพูชากับนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดียมีความพ้องกันที่จะยกระดับการทำงานด้านการลงทุนระดับทวิภาคี เพื่อให้มีเม็ดเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หมุนเวียน โดยกัมพูชาเชิญอินเดียเข้าไปลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ, เภสัชกรรม, เกษตร, โครงสร้างพื้นฐาน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม



เว็บไซต์ ซินล่างเวยป๋อของจีนได้ลบช่องทางหรือลิงก์ที่เข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม มีเนื้อหาอนาจาร หยาบคาย หรือส่งผลกระทบกับความมั่นคงทางสังคมออกจากระบบเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากที่พบว่า มีการใช้งานสื่อสังคมไปในทางที่ผิด อนาจาร และเนื้อหาที่แบ่งแยกทางชาติพันธุ์อย่างแพร่หลาย



นายอิงวาร์ คัมพรัด ชาวสวีเดน ผู้ก่อตั้งอิเกียเสียชีวิตแล้วขณะที่มีอายุได้ 91 ปีที่บ้านพักของเขาในเขตสมาลันด์ ทางภาคใต้ของประเทศ หลังจากที่มีอาการป่วยมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว นายเยสเปอร์ โบรดิน ซีอีโอและประธานบริหารของกลุ่มอิเกีย กรุ๊ป แถลงว่ามรดกที่นายคัมพรัดทิ้งไว้จะเป็นที่ชื่นชอบต่อไปอีกนาน ขณะที่วิสัยทัศน์ และความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้การใช้ชีวิตประจำวันที่ดีขึ้นจะเป็นเครื่องชี้นำและสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานของทุกคนต่อไป



...

ข่าวทั้งหมด

X