จากปัญหาปูม้าหมดไปในอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี และหลังจากนั้นมีการริเริ่มทำธนาคารปูไข่ขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์แหล่งอาหารให้เกิดความยั่งยืน นายฐกร ค้าขายกิจธวัช นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหลายแห่งยอมรับว่าอ่าวคุ้งกระเบนเป็นโมเดลสำคัญแห่งหนึ่งของโลกในการผลิตลูกปูม้าคืนสู่ธรรมชาติจำนวนมหาศาล มีการขยายองค์ความรู้ไปหลายแห่ง จากการริเริ่มทำธนาคารปูไข่อย่างไม่เป็นทางการในปี 2540 ช่วงนั้นชาวบ้านตกอยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุน ที่นำเงินมาออกเครื่องมือประมงให้ใช้ พอเสร็จต้องขายเครื่องมือคืนนายทุนทั้งหมด จากปัญหาดังกล่าวจึงมีการจัดตั้งกลุ่มเครื่องมือประมงปูม้าขึ้นมา และให้ความรู้ ช่วยปลดแอกชาวบ้านให้ออกจากสภาวะดังกล่าว หลังจากนั้นเกิดความร่วมมือของธนาคารปูไข่มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ในปี 2560 พบว่ามีการเขี่ยไข่ปูม้านอกกระดองน้ำหนักประมาณ 1,400 กว่ากิโลกรัม มีลูกปูม้าที่คืนสู่ธรรมชาติถึงร้อยละ 80 หรือประมาณ 24 ล้านล้านตัว กรมประมง ระบุว่า ในจำนวนดังกล่าวจะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ ร้อยละ 10 ทำให้พื้นที่จังหวัดจันทบุรีขึ้นชื่อในเรื่องของปูม้า ปัจจุบันมีเรือประมงจากจังหวัดชลบุรี ระยอง ตราด เข้ามาหาปูม้าในจังหวัดจันทบุรี ในอนาคตจะขอความร่วมมือเรือประมงจังหวัดอื่นที่ขึ้นปูในจังหวัดจันทบุรีให้บริจาคไข่ปู ประกอบกับทำความเข้าใจ ให้ใช้กติกาเดียวกับชาวประมงจังหวัดจันทบุรี ว่าในพื้นที่ดังกล่าวไม่อนุญาตให้นำปูม้าที่มีขนาดน้อยกว่า 8 เซนติเมตร (วัดจากความยาวของหนามกระดองทั้งสองฝั่ง) มาใช้ประโยชน์
นายฐกร ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมาเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ รวมทั้งบริษัทเอกชนที่ดำเนินกิจการบรรจุเนื้อปูอัดกระป๋องส่งสหรัฐอเมริกา ได้มาร่วมทำธนาคารปูกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ด้วย จะมีการนำปูม้าที่มีไข่นอกกระดองมาให้ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ เขี่ยเอาไข่ออกมาอนุบาล เมื่อเขี่ยไข่ออกแล้ว เจ้าหน้าที่จะคืนแม่ปูม้าให้บริษัทเอกชนนำไปต้มต่อ จึงไม่เป็นการเสียโอกาสในการหาปู ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าเองก็เต็มใจที่จะบริจาคไข่ปูม้าให้ แม้ว่าการนำไข่ปูม้านอกกระดองออกจะทำให้น้ำหนักลดลงไปถึงร้อยละ 20 ก็ตาม อ่าวคุ้งกระเบน จึงเป็นสถานที่ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์แหล่งอาหารที่ยั่งยืน โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน ชาวบ้าน
อย่างไรก็ตามการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้ยึดหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการใช้ธรรมชาติ ช่วยธรรมชาติ เนื่องจากที่นี่จะปล่อยปูคืนสู่ธรรมชาติตั้งแต่ตัวยังเล็กมาก เพื่อให้ปูยังมีสัญชาตญาณความเป็นสัตว์เต็มร้อย สามารถเรียนรู้ที่จะหาอาหารเองได้ โดยให้ธรรมชาติคัดเลือกผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด คือ ผู้ที่ได้ดำรงเผ่าพันธุ์
สำหรับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการเลี้ยงปูไข่ นายฐกร เล่าว่า ที่นี่จะใช้กระแสไฟฟ้าหลักเป็นส่วนใหญ่ แต่จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในช่วงหน้าฝนที่ไฟฟ้าจะชอบดับ
ขณะที่นายประจวบ ลีรักษาเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ เปิดเผยว่า โครงการธนาคารปูไข่คาร์บอนต่ำ ริเริ่มในพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง คือ อ่าวคุ้งกระเบน ฝั่งคุ้งวิมาน ซึ่งเป็นของชาวประมงพื้นบ้าน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านน้ำแดง และบ้านบางชัน หรือ บ้านไร้แผ่นดิน ในอนาคตจะมีการต่อยอดไปยังธนาคารปูไข่ที่อื่นอีกด้วย จากสถิติพบว่าหากมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งวัน จะประหยัดค่าไฟได้วันละ 26 บาท
ผู้สื่อข่าว: ปภาดา พูลสุข