การท่าเรือฯลงนามร่วมกับเอ็นพีมารีน ตั้งเป้าพัฒนาขนส่ง-ท่าเรือริมน้ำเจ้าพระยา

26 มกราคม 2561, 12:04น.


การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าชายฝั่งระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)กับบริษัท เอ็น พี มารีน จำกัด  เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการกทท.ฝ่ายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ รักษาการแทนผู้อำนวยการกทท. เปิดเผยว่า ตามภารกิจหลักของกทท.มีแผนขยายบริการท่าเรือและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ทางน้ำในประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือชายฝั่งในอ่าวไทย เพื่อเป็นการสนับสนุนและพัฒนาการขนส่งทางน้ำภายในประเทศให้มีต้นทุนอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับการขนส่งทางบก สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC การลดต้นทุนโลจิสติกส์ภาคการขนส่งและโครงการส่งเสริมคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบกับผลการศึกษาของกทท.ที่ได้สรุปว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ โดยมีท่าเรือ เอ็น พี มารีน จำกัด ให้บริการขนส่งสินค้าชายฝั่งชั้นนำของประเทศที่ปัจจุบันให้บริการในเส้นทางสุราษฎร์ธานี ท่าเรือแหลมฉบังและเชื่อมโยงท่าเรือกรุงเทพ สอดรับโครงการพัฒนาท่าเรือ 20G ของท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือชายฝั่งA0ของท่าเรือแหลมฉบังที่รองรับปริมาณตู้สินค้าชายฝั่งที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และพร้อมจะเปิดให้บริการในปีนี้





ดังนั้นการลงนามในวันนี้นับว่าเป็นโอกาสและจุดเริ่มต้นที่ดีอย่างยิ่งที่จะร่วมกันผลักดัน แก้ไขปัญหาอุปสรรค โดยมีความร่วมมือระยะเวลา 3 ปี ครอบคลุมการให้บริการในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือระนอง ท่าเรือสุราษฎร์ธานีและท่าเรือสงขลา และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ข้อมูล ความรู้ เทคโนโลยีในด้านการบริหารจัดการท่าเรือ เพื่อร่วมการขับเคลื่อนการขนส่งสินค้าและตู้สินค้าทางน้ำภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



ด้านพลเอก มนตรี สังขทรัพย์ กรมการบริษัท เอ็น พี มารีน จำกัด กล่าวว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่บริษัท เอ็น พี มารีน จำกัด ร่วมกับ กทท. วางแผนกำหนดกลยุทธ์การขนส่งสินค้าในประเทศ เป็นก้าวที่สำคัญในการพัฒนาการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด





ขณะที่นายสุรชัย นิ่มนวล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็น พี มารีน จำกัดได้ตั้งเป้าเพิ่มยอดขนส่งสินค้าทางน้ำในระยะเวลา 3 ปี จากเดิมเพิ่มขึ้นอีกกว่าร้อยละ 20 เน้นการลดต้นทุนและการลดปัญหาจราจร รวมถึงมีแผนดึงปริมาณการขนส่งทางน้ำ ที่ขนส่งออกไปเส้นทางประเทศเพื่อนบ้านกลับเข้ามาขนส่งในเส้นทางแหลมฉบังเช่นเดิม

ข่าวทั้งหมด

X