การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ในวาระที่ 2 และ 3 ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเป็นการพิจารณาในมาตรา 87 ว่าด้วยการปรับแก้ไขในเรื่องเวลาการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ที่คณะกรรมาธิการฯมีการปรับแก้เพิ่มเวลาจาก 08.00-16.00น. เป็นเวลา 07.00-17.00น.
นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล คณะกรรมาธิการฯเสียงข้างน้อย ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ได้มีการอ้างอิงความจำเป็นที่ต้องขยายเวลา และยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนให้ดำเนินการ อีกทั้งยังต้องเสียงบประมาณมากขึ้นหลายร้อยล้านบาท ที่สำคัญการขยายเวลาการลงคะแนนเสียงอาจทำให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยมากขึ้น เพราะประชาชนและเจ้าหน้าที่ต้องตื่นเช้าทำงานหนักมากขึ้น จากสถิติที่ผ่านมามีความชัดเจนว่าเมื่อมีการเลือกตั้งมักมีเหตุรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เสมอ จึงมองว่าควรให้ลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00-16.00น. ก็พอแล้ว
ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ คณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ไม่ได้ลืมนึกถึงความปลอดภัยของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มองแล้วว่าเวลาที่ขยายไม่ได้เพิ่มออกไปมากนัก อีกทั้งการเตรียมการต่างๆ เช่น การเตรียมหีบลงคะแนน เตรียมอุปกรณ์ และรายชื่อผู้มีสิทธิ ก็จะจัดให้ทำก่อนวันเลือกตั้งอยู่แล้ว และที่ผ่านมามักพบปัญหาประชาชนมาลงคะแนนเสียงไม่ทันจำนวนมาก จึงเห็นสมควรว่าควรขยายเวลาการออกเสียงเลือกตั้งให้เป็นเวลา 07.00-17.00น. เพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศที่มักให้เวลาประชาชนมีสิทธิลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า12ชม.ด้วย
เช่นเดียวกับนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช.ที่เห็นด้วยกับการเลื่อนเวลา เพราะนอกจากจะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พิสูจน์ชัดเจนว่าการลงคะเเนนเสียงเลือกตั้งของไทยควรขยายเวลาออกไปแล้ว ยังมองว่าการขยายเวลาการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะทำให้การเลือกตั้งมีความยุติธรรม โปร่งใส และจะทำให้ประชาชนมาใช้สิทธิลงคะแนนมากขึ้นด้วย แม้อาจจะต้องเสียงบประมาณมากขึ้นประมาณ 200-300 ล้านบาท แต่ก็มองว่าคุ้มค่า เพราะการเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญและเป็นด่านคัดเลือกผู้แทนของประชาชน
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร