การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ล่าสุดยังอยู่ในวาระที่ 2 โดยเป็นการพิจารณาในมาตรา 35 ที่คณะกรรมาธิการฯ มีการปรับแก้กำหนดการเพิ่มโทษสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่ไปใช้สิทธิ โดยเพิ่มห้ามมิให้เข้ารับราชการในรัฐสภา ทั้งในส่วนลูกจ้าง พนักงานราชการ และข้าราชการ ห้ามเข้ารับตำแหน่งในข้าราชการด้านการเมือง และข้าราชการหรือตำแหน่งต่างๆที่เกี่ยวกับองค์กรส่วนท้องถิ่น เป็นเวลา 2 ปี
คณะกรรมาธิการฯเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วย ระบุว่า การตัดสิทธินี้มองว่าอาจสุ่มเสี่ยงต่อการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 ในมาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 40 ในประเด็นการจำกัดอาชีพบุคคล และการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งมองว่าการเพิ่มบทลงโทษดังกล่าวไม่น่ากระตุ้นให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น
ส่วนนายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสนช. แสดงความไม่เห็นด้วยกับบทลงโทษ เพราะน่าจะเป็นการขัดกับหลักสิทธิพื้นฐานที่เกินความจำเป็น และไม่กระตุ้นให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น
ด้านนาย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. ระบุว่า การเพิ่มบทลงโทษของคณะกรรมาธิการฯ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพราะเป็นการจำกัดหลักสิทธิเสรีภาพบุคคล พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมาธิการฯ ตั้งใจแก้บทลงโทษ เพราะหวังจะให้เป็นเกมการเมือง ยื้ออายุเวลาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.) ให้อยู่ต่อได้ ผ่านการให้มีผู้ยื่นตีความร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
สำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ประชุมได้ปรับให้อภิปรายเป็นรายมาตราตามที่คณะกรรมาธิการฯ แก้ไขจำนวน 30 มาตราให้แล้วเสร็จก่อนทั้งหมด จากนั้นจึงจะค่อยลงมติขอความเห็นชอบเป็นรายมาตราในภายหลัง
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า จะรอดูการพิจารณาก่อนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร จึงจะคิดเรื่องการขอตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ ทั้งนี้ หากมีการขยายระยะเวลาไป 90 วัน ส่วนตัวก็มองว่าอาจไปร่นระยะเวลาอื่นให้น้อยลงได้ เช่น การร่นช่วงเวลาหาเสียง ที่จากเดิมต้องให้เวลาพรรคการเมืองหาเสียงไม่น้อยกว่า 45 วันก็อาจไปแก้ให้น้อยลงได้
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร