การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. ที่มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ในวาระที่ 2 และ 3 ขณะนี้เป็นการพิจารณาในมาตรา 2 ที่คณะกรรมาธิการฯได้มีการแก้ไขให้ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษานาย วิทยา ผิวผ่อง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวในที่ประชุมว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สนช.ผ่านร่างกฎหมายไปแล้ว 370 กว่าฉบับ ซึ่งมีถึง 21 ฉบับที่ให้มีผลบังคับใช้หลังพ้น 90 วันในการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมี 9 ฉบับ ที่ให้มีผลบังคับใช้หลัง 120 วัน สำหรับการยกเว้นให้ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีผลหลัง 90 วันเป็นเพราะต้องการให้พรรคการเมืองมีความพร้อมในการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับนาย ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกคณะกรรมาธิการฯ ที่มองว่า ต้องเลื่อนเวลา โดยเสนอให้เลื่อนเป็น 120 วัน เพราะขณะนี้สถานการณ์ในประเทศหลายอย่างไม่เอื้อให้จัดการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองก็ยังไม่มีความพร้อม ไม่ได้เกี่ยวกับใบสั่งคสช.ใดๆ
ด้านนาย สมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ระบุว่า หลักการออกกฎหมายดังกล่าวมาจากผลของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมานานนับ 10 ปี ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ การปฏิรูปนักการเมืองให้มีประสิทธิภาพ ส่วนตัวมองว่าการขยายระยะเวลาเป็นการสร้างโอกาสและทางเลือกให้ประชาชนมีโอกาสเลือกพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ดีที่สุดโดยการเลื่อนเวลาแค่ 90 วันอาจไม่เพียงพอ จึงเสนอแนวทางให้แบ่งขยายเวลาเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือ 90 วัน ตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอมานี้ และช่วงที่ 2 คือ ต่อไปอีก 90 วัน เพื่อให้พรรคการเมืองได้เตรียมตัวในขั้นตอนต่างๆ รวมแล้วเสนอเลื่อนออกไปเป็น 180 วันหรือ 6 เดือน
ด้านตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ระบุว่า ถ้าสนช.อยากจะขยายระยะเวลา 90 วันก็คงเพียงพอแล้วต่อการให้เวลาพรรคการเมืองจดทะเบียนสมาชิกพรรค คัดเลือกตัวแทนและผู้นำพรรค ไม่จำเป็นต้องขยายถึง 120 หรือ 180 วันตามที่เสนอ โดยกกต.ยังมองว่าถ้าทุกอย่างเป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าโรดแม็ปการเลือกตั้งก็จะชัดเจนในเดือนมิถุนายน 2561 และบางอย่างของกระบวนการการเลือกตั้งน่าจะเรียบร้อยได้ภายในปลายเดือนกันยายน 2561