การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ในวาระที่ 2 และ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่ขณะนี้ที่ประชุมกำลังพิจารณาในม. 2 ขอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. เปิดเผยว่า ประเด็นสำคัญคือ ความจำเป็นและเหตุผลในการเลื่อนการบังคับใช้ออกไปว่าเป็นเพราะเหตุใด และจำเป็นเพียงใด โดยสนช.คงต้องฟังเหตุผลจากทุกฝ่าย ทั้งเสียงข้างน้อย เสียงข้างมาก และที่สำคัญคือ เสียงจากสังคม ถึงเหตุผลในการเลื่อนการบังคับใช้ ซึ่งสุดท้ายแล้วเป็นดุลยพินิจของสมาชิกสนช.แต่ละคนที่จะตัดสินเอง ทั้งนี้หากไม่แก้เรื่องเงื่อนเวลาให้แล้วเสร็จแต่ตอนนี้ อนาคตก็มีแนวโน้มต้องไปแก้อีก เพราะคำสั่งคสช.กำหนดเงื่อนเวลาที่ทำให้พรรคการเมืองยังดำเนินกิจกรรมไม่ได้ ซึ่งส่งผลต่อร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ในการเตรียมการเลือกตั้งส่วนการขอให้ปลดล็อคคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อจะได้ไม่ต้องขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปนั้น นาย สุรชัย ระบุว่า ไม่ใช่หน้าที่ของสนช.ที่จะพิจารณาหรือขอให้ปลดล็อค เพราะสนช.ไม่มีข้อมูลด้านความมั่นคง และมีหน้าที่แค่พิจารณากฎหมายให้เป็นไปตามโรดแม็ปเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง เชื่อว่าคสช.ย่อมมีข้อมูลและมุมมองถึงความปลอดภัยจึงยังไม่ปลดล็อคคำสั่ง
อย่างไรก็ดีส่วนตัวมั่นใจว่าจะได้เลือกตั้งแน่นอน เพียงแต่ต้องดูว่าเป็นช่วงใดเท่านั้น และไม่ปฏิเสธถึงกระแสการมีใบสั่งจากคสช.ให้เลื่อนเวลาออกไป เพราะยอมรับว่าสถานการณ์เอื้อให้สังคมมองเช่นนั้น อีกทั้งมีความพยายามเล่นกระแสที่โยงไปถึงคสช.ว่าเป็นการต่ออายุตัวเอง ซึ่งสนช.ก็ไม่รู้จะอธิบายต่อสังคมในกรณีนี้อย่างไร แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่ได้ออกกฎหมายตามความต้องการของใคร ยึดผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก พร้อมระบุว่าสนช.ตกที่นั่งลำบากมาตลอด
ส่วนการพิจารณาร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ในวันนี้อาจจะแล้วเสร็จในช่วงค่ำ และได้กำชับกับที่ประชุมแล้วว่าการอภิปรายจะต้องสั้น กระชับ ไม่ออกนอกประเด็น หรืออภิปรายซ้ำ เพราะไม่เหลือเวลาพิจารณาแล้ว เนื่องจากกำลังจะครบกรอบกำหนด 60 วันตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ
ด้านนาง เรืองรวี พิชัยกุล ผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนาย สุรชัยเพื่อเสนอให้แยกกลุ่มสตรีเป็นกลุ่มเฉพาะกลุ่มเดียวในการแบ่งกลุ่มผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาหรือส.ว. ตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ที่จะมีการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ พร้อมระบุว่า ปัจจุบันสภาฯมีสัดส่วนผู้หญิงน้อยแค่ร้อยละ 4 จึงอยากให้เพิ่มสัดส่วนผู้หญิงให้มากขึ้น โดยไม่นับไปรวมกับกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะการมีผู้หญิงในสภาฯในจำนวนน้อย ทำให้สังคมเห็นถึงความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำ