นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คาดว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ปีนี้ จะขยายตัวร้อยละ 2 หรือไตรมาส 3 และ 4 โต เฉลี่ยขยายตัวไตรมาสละร้อยละ 3-4 จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามแผนที่วางไว้ การกระตุ้นเศรษฐกิจตามโรดแมปต่าง ๆรวมถึงการเร่งอนุมัติคำขอส่งเสริมการลงทุนให้เกิดในทางปฎิบัติโดยเร็ว คาดว่า จะส่งผลให้เศรษฐกิจอีก 1 ปีข้างหน้า ขยายตัวได้ร้อยละ 5 แต่ปีนี้ ถือได้ว่าเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะขยายตัวได้ เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง ขณะเดียวกัน เห็นว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องมีนโยบายประชานิยมออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเป็นพิเศษ แต่หากจะมีมาตรการใด ควรเน้นเฉพาะการแก้ปัญหาของผู้ที่เดือดร้อนเฉพาะกลุ่ม เพื่อไม่สร้างปัญหาในระยะยาว แต่ควรให้ความสำคัญเรื่องการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพดีกว่า รวมถึงเร่งอนุมัติคำขอส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกิดการจ้างงาน เงินก็จะกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่วนการปฎิรูปภาษี โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้ มองว่า ควรทำในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะหากขึ้นภาษีในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว อาจจะทำให้เศรษฐกิจหยุดการเติบโต เหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นหน่วยงานของกระทรวงการคลัง ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน รวมถึงศึกษาความสมดุลด้านการคลังด้วย หากจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรดำเนินการเป็นแพ็คเกจร่วมกัน สำหรับหนี้ครัวเรือนที่สูงถึงร้อยละ 83ต่อจีดีพี เห็นว่ายังไม่น่าห่วง เพราะอัตราการเติบโตของหนี้ชะลอลง ตั้งแต่กลางปี2556ขณะที่สถาบันการเงินระวังการปล่อยสินเชื่อ เห็นได้จากสินเชื่อขยายตัวเพียงร้อยละ6-7 เท่านั้น ก็เบาใจได้ระดับหนึ่ง ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ต้อง ติดตามในระยะต่อไป คือ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ที่ดำเนินนโยบายต่างกัน และอาจส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เคลื่อนไหว2ทิศทาง ซึ่งธปท. ต้องเตรียมพร้อม ด้วยการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น เงินทุนสำรองที่เพียงพอ และติดตามข่าวสารต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด