กรมควบคุมมลพิษ ชี้แจง กทม.อากาศนิ่ง ทำให้ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน

24 มกราคม 2561, 18:41น.


กรณีมีการแชร์เรื่องอากาศขมุกขมัวในกรุงเทพฯ นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า พบว่ามีฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นทั้งหมอกและฝุ่นทั้ง2อย่าง ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงมาก และสภาพอากาศปิด วันนี้ โชคดี มีฝนตกลงมาชะล้างลงไปบ้าง กรมควบคุมมลพิษ มีสถานีตรวจจับคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ วัดฝุ่นขนาดต่างๆ  ที่เล็กกว่า10 ไมครอน คือเล็กกว่าเส้นผม และขนาด2.5ซึ่งเล็กกว่านั้นอีก ขนาดและอันตรายจะดูกันตามขนาดของฝุ่นด้วย และอันตรายขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของฝุ่น ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากที่การใช้รถใช้ถนนด้วย ถ้าแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง  มลพิษจะต่างกัน เตือนคนที่มีร่างกายอ่อนแอ ต้องป้องกันตัวเองด้วย คือใส่หน้ากากป้องกัน ค่าฝุ่นตอนนี้วัดได้อยู่ในช่วง 54-85 ไมโครกรัม



กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผย กทม.เกิดสภาพอากาศนิ่ง และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 ใน กทม.เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ ฝุ่นละออง PM 10 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลัก ได้แก่ การจราจร รองลงมาคืออุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง



นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศ กรุงเทพฯและปริมณฑล วันที่ 24 มกราคม 2561ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ (ค่ามาตรฐาน 50 มคก/ลบม.) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 24 มกราคม 2561 อยู่ในช่วง 54 – 85 มคก./ลบ.ม. สูงสุดที่ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี สมุทรปราการ 59 – 71 มคก./ลบ.ม. และสมุทรสาคร 114 มคก./ลบ.ม. สำหรับผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM10 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐาน 120 มคก/ ลบม.) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลักของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ การจราจร รองลงมาคืออุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ประกอบกับเกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ปรากฏการณ์นี้จะพบเป็นบางวันในช่วงฤดูหนาว ถึงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับ PM 2.5 สูงขึ้นผิดปกติในช่วงนี้





นางสุณี กล่าว่า จากข่าวที่แชร์ในเว็บเพจต่างๆ ซึ่งเป็นรูปจากเว็บไซต์ http://aqicn.org/ ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เว็บไซต์ดังกล่าวใช้ค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมง เทียบกับดัชนีคุณภาพอากาศของ U.S. EPA ซึ่งต้องใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในการเทียบ จึงทำให้การรายงานดัชนีคุณภาพอากาศของเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในช่วงสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ข้อเท็จจริง หากใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะอยู่ในเกณฑ์สีส้ม (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ระบบทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร และขอความร่วมมือเจ้าของยานพาหนะดูแล รักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีและไม่ปล่อยควันดำ และถ้าเป็นได้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนก็จะช่วยสถานการณ์และลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ได้



 



CR:www.facebook.com/PCD.go.th/



 



 

ข่าวทั้งหมด

X