การประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชั่วคราว หรือ วิป สนช. มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ 6 ฉบับ ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอที่ประชุมวิปสนช.มีมติเห็นควรให้ที่ประชุม สนช.พิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และตั้งคณะกมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณา 15 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานงาน สนช. 3 คน สมาชิกสนช. 9 คน และผู้แทนคณะรัฐมนตรี 3 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน ส่วนร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ ที่ประชุมมีมติให้เสนอต่อประธาน สนช. ให้พิจารณาเลื่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากมีประเด็นและรายละเอียดในร่างที่สำคัญหลายประการ ซึ่งสมควรพิจารณาศึกษาและรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. ในฐานะโฆษกวิป สนช.เปิดเผยว่า การเลื่อนร่างพ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. เนื่องจากพบว่ายังมีปัญหาข้อกฎหมายหลายประการ โดยตัวแทนจากสภาทนายความแห่งประเทศไทย และตัวแทนจากเนติบัณฑิตสภา แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยเห็นว่าขณะนี้มีกฎหมายหลายฉบับที่ครอบคลุมการทวงหนี้อยู่แล้ว ขณะที่ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบก็มีเพียง 78 คดีเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นหนี้อยู่ในระบบสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะควบคุมดูแลอยู่ โดยบางส่วนเห็นว่าควรบรรจุอยู่ในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้กรรมาธิการฯ ก็แสดงความเห็นหลากหลาย โดยเห็นว่าเพื่อความรอบคอบควรเลื่อนระเบียบวาระออกไปเพื่อศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน
สำหรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ประชุมวิป สนช.มีมติเห็นควรให้ที่ประชุม สนช.พิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 15 คน แปรญัตติ 7 วัน
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เสนอต่อที่ประชุม สนช.พิจารณา เพื่อรับหลักการร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ และตั้งคณะกรรมาธิการ จำนวน 15 คน แปรญัตติ 7 วัน
เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญ ตาม พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่ประชุมมีมติเห็นควรให้ที่ประชุม สนช.พิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 15 คน แปรญัตติ 7 วัน
CR:แฟ้มภาพ