กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สรุปผลการติดตามคลีนิกอุ้มบุญ พร้อมเผยความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดด้วยวิธีการรักษาด้วยเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ นาวาอากาศตรีนายแพทย์ บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า จากการติดตามตรวจสอบสถานพยาบาลเอกชน 12 แห่ง ที่ได้รับเบาะแสว่าน่าจะมีการให้บริการอุ้มบุญที่ผิดกฎหมาย พบว่ามีสถานพยาบาล 7แห่ง ที่กระทำผิดพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และมี 3แห่งที่ไม่ได้เป็นสถานพยาบาล แต่เปิดเป็นบริษัทเอเจนซี่ที่คอยประชาสัมพันธ์การรับจ้างอุ้มบุญ ส่วนอีก 2 แห่ง นั้นได้เปิดทำการถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะนี้ได้มีคำสั่งให้คลินิกที่ไม่ได้รับรองในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ให้หยุดการให้บริการ 60 วัน และส่วนแพทย์ที่กระทำความผิดจำนวน 6ราย ก็ได้มีการส่งเรื่องไปยังแพทยสภา เพื่อพิจารณาทางด้านจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว โดยหลังจากนี้ทางกรมฯ จะเดินหน้าตรวจสอบสถานพยาบาลที่เหลืออีก 45 แห่ง ที่ได้รับการอนุญาตในการทำอุ้มบุญ และอาจจะต้องมีการสุ่มตรวจคลินิกสูตินรีแพทย์ในพื้นที่กทม. 18 แห่ง และในต่างจังหวัด 155 แห่ง
ความคืบหน้า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดด้วยวิธีการรักษาด้วยเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ที่คุ้มครองเด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ฯ ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยแพทย์ทุกฝ่ายเห็นสมควรว่าต้องมีการระบุให้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจะต้องเป็นเครือญาติเท่านั้น เหมือนตามประกาศของแพทยสภา เพื่อเป็นการขจัดปัญหาการตั้งครรภ์เชิงพาณิชย์ อีกทั้งในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดด้วยวิธีการรักษาด้วยเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ฉบับนี้ จะมีการควบคุมการทำอุ้มบุญให้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยจะมีการลงโทษครอบคลุมทั้ง ผู้จ้าง ผู้ถูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำอุ้มบุญอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้ในร่างกฎหมายฉบับนี้จะให้การคุ้มครองเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญโดยผิดกฎหมาย
ส่วนกรณีที่ทนายความของนายมิตซูโตกิ ชิเกตะ ชายชาวญี่ปุ่น จะขอนำเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญจากแม่ชาวไทยทั้งหมดออกนอกประเทศนั้น ว่า โดยขณะนี้ยังจะไม่มีใครนำเด็กทั้งหมดออกนอกประเทศไปได้ เพราะต้องผ่าน กระบวนการตรวจทางจริยธรรม และ กระบวนการยุติธรรมของก่อน ส่วนเด็กที่ได้ถูกนำออกไปแล้วนั้น ก็กำลังเร่งดำเนินการติดตาม แต่ก็ยอมรับว่าน่าจะเป็นไปได้ยาก
วิรวินทร์:-ข่าว/ภาพ