กทพ. เปิดการรับฟังเพื่อทดสอบความสนใจนักลงทุนในโครงการระบบทางด่วนขั้นที่2

16 มกราคม 2561, 11:10น.


การเปิดโอกาสให้นักลงทุน และบริษัทเอกชน เข้ารับฟังแนวทางการดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) หลังสัญญาร่วมลงทุนฉบับปัจจุบันใกล้สิ้นสุดลง โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้จัดการสัมมนาทดสอบความสนใจของนักลงทุน นายประสิทธิ์ เดชศิริ รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 มีบทบัญญัติให้ศึกษาแนวทางรูปแบบการร่วมลงทุน หลังสัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 การทางพิเศษพิเศษแห่งประเทศไทย จึงอยู่ระหว่างจัดทำแนวทางการดำเนินงานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึง ส่วนดี) ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ประกอบด้วยรูปแบบการร่วมลงทุน 3 กรณี คือการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินโครงการเอง เอกชนรายเดิมเป็นผู้ดำเนินโครงการต่อ และเปิดโอกาสให้เอกชนรายใหม่เข้ามาเป็นผู้ดำเนินโครงการ


การจัดสัมมนาวันนี้จึงเป็นการทดสอบความสนใจผู้ลงทุน บริษัทเอกชนรายใหม่ พร้อมรับทราบความเห็น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเข้าร่วมลงทุน โดยเฉพาะข้อมูลเชิงรายละเอียด เพื่อนำไปวิเคราะห์ สรุปผลเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย ก่อนรวบรวมทั้ง 3 รูปแบบ เสนอต่อคณะกรรมการการทางพิเศษ ส่งไปยังกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพิจารณา และส่งเข้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยจะพยายามเร่งรัดกระบวนการทั้งหมดนี้ แต่คงไม่สามารถตอบได้ว่า กระบวนการนี้ จะเสร็จสิ้นภายในปี 2561 หรือไม่ และผลที่ออกมาจะเป็นในรูปแบบใด ก็ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา 




ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน ของโครงการระบบทางด่วนขั้น 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) ดร. กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรูปแบบ PPP และการลงทุน กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราค่าผ่านทางของโครงการนี้อยู่ที่ รถยนต์ 4 ล้อ 50 บาท รถบรรทุก 6-10 ล้อ 75 บาท และรถบรรทุกมากกว่า 10 ล้อ 110 บาท แต่พบว่า ปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยในทางพิเศษศรีรัชส่วนเอ (พระราม 9 - รัชดาภิเษก) และส่วนบี (พญาไท-บางโคล่) เฉลี่ย 320,000 คันต่อวัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 400,000 คันต่อวัน ส่วนทางพิเศษศรีรัชส่วนซี (รัชดาภิเษก-แจ้งวัฒนะ) และส่วนดี (พระราม9-ศรีนครินทร์) อยู่ที่ 200,000 คันต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มที่ปริมาณรถจะเพิ่มขึ้น 250,000 คันต่อวัน รวมถึงอัตราการเก็บค่าผ่านทาง เฉลี่ยตั้งแต่ปี 2536-2559 อยู่ที่ปีละ 8,950 ล้านบาท ขณะที่แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) จะคำนวณการปรับขึ้นจากดัชนีราคาผู้บริโภคสำหรับกรุงเทพมหานคร โดยมีอัตราปรับขึ้นทุก 5 ปีนับจากวันพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านทาง


....


ผสข.เกตุกนก ครองคุ้ม
ข่าวทั้งหมด

X