หลังการประชุมหารือการปฏิบัติงานระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กับสถาบันการเงินทั้ง 36 แห่ง เพื่อเน้นย้ำมาตรการป้องกันการขโมยบัตรประชาชนของผู้อื่นมาเปิดบัญชี ในการกระทำความผิด พลตำรวจตรีรมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าขณะนี้มีบัญชีต้องสงสัยที่เค้าข่ายพฤติการณ์ขโมยข้อมูลบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีเพื่อกระทำความผิดจำนวนกว่า 4,000 บัญชี เป็นการเพิ่มขึ้นรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ปปง. ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำการสืบสวนขยายผล เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังต่อไปว่าจะเข้าข่ายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กระบวนการค้ายาเสพติด การพนันออนไลน์ หรือความผิดมูลฐานอื่นๆ หรือไม่
โดยปปง. กำหนดมาตรการ เพิ่มความเข้มงวดในการแสดงตัว และตรวจสอบผู้เปิดบัญชีให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ซึ่งต้องมีข้อมูลหลักฐานแสดงตัวอย่างน้อย 7 อย่าง ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด เลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน และที่อยู่ปัจจุบัน อาชีพ สถานที่ทำงาน ข้อมูลการติดต่อ หมายเลขโทรศัพท์และลายมือชื่อผู้ทำธุรกรรม รวมถึงให้ตรวจสอบทางกายภาพ อาทิ รูปร่างหน้าตาว่า ตรงกับหลักฐานที่นำมาแสดงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังขอให้สถาบันการเงิน ประสานกับกรมการปกครอง ติดตั้งโปรแกรมเพื่อตรวจสอบสถานะของบัตรประชาชนว่ายังสามารถใช้การอยู่ได้หรือไม่ หรือมีการยกเลิกเพิกถอนหรือแจ้งหายไว้หรือไม่
ขณะเดียวกัน ยังให้สถาบันการเงินตรวจสอบการทำธุรกรรมของบัญชี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และความถูกต้องของลูกค้าเจ้าของบัญชี โดยให้สถาบันการเงินติดต่อเจ้าของบัญชีตามที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ เพื่อยืนยันและรับรองสถานะบัญชี หากเจ้าของบัญชีไม่ทำการยืนยันและรับรองสถานะบัญชี ทางสถาบันการเงินจะเฝ้าระวังบัญชีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและประสานมายัง ปปง. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ด้านนายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่ลูกค้าธนาคาร มีการทำศัลยกรรมบนใบหน้า แตกต่างจากภาพในบัตรประชาชน ธนาคารจะต้องให้ลูกค้าไปทำบัตรประชาชนใหม่ หรือมีใบรับรองจากแพทย์ชัดเจนว่าไปทำศัลยกรรมมา
ที่ผ่านมาทางกรมการปกครอง จัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากธนาคารไปยังกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในข้อมูลจะมีการยืนยันบุคคลที่ปรากฎใน IC Ship บนบัตรประจำตัวประชาชน ได้แก่ เลขข้อมูลคำร้องขอทำบัตร เลขประจำประชาชน และเลขประจำ IC Ship ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทันเมื่อลูกค้ามาขอเปิดบัญชี ซึ่งเครื่องดังกล่าว ยังสามารถตรวจสอบข้อมูลบัตรได้อีกด้วย ว่าบัตรที่นำมาเปิดบัญชีเป็นบัตรที่ถูกแจ้งหายหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาธนาคารยังใช้วิธีการตรวจสอบวิธีนี้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่ได้มีข้อบังคับให้ทุกธนาคารใช้ เพียงแต่เป็นข้อควรปฏิบัติเท่านั้น
ส่วนนายยงศักดิ์ เซี่ยงหลอ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า การนำเครื่องอ่าน IC Ship และการเชื่อมโยงฐานข้อมูล เป็นการเพิ่มภาระของธนาคาร และบางธนาคารมีระบบการตรวจสอบที่ทันสมัยมากกว่า เช่น การตรวจสอบใบหน้า และม่านตา หรือตรวจสอบลายนิ้วมือ อย่างไรก็ตามในอนาคตหากมีการนำบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีและสร้างความเสียหายเกิดขึ้น ทางผู้บริหารธนาคารจะต้องมีส่วนรับผิดชอบฐานประมาทเลินเล่อ