แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำหลาก ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันนี้ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการเตรียมความพร้อมโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมระบุว่า หลังประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่าขณะนี้มีความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมของโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ได้มีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ทำความเข้าใจกับประชาชนและปักหลักเขตไปบางส่วนแล้ว โดยได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของโครงการ เนื่องจาก พื้นที่ขุดคลองเป็นพื้นที่ทำนา พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน รวมทั้งได้ลงมาติดตาม กำกับดูแล ทั้งการออกแบบก่อสร้าง ที่กำชับให้เร่งดำเนินการเร็วขึ้น ให้เสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ จากกำหนดการเดิม คือ ให้เสร็จภายในปี 2562 หากโครงการดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากประชาชน และมีความพร้อม จะสามารถผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ และจะสามารถเปิดโครงการในเดือนสิงหาคมนี้ และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2562 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี แล้วเสร็จในปี 2566
รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า การก่อสร้างโครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร เป็นคลองยาว ประมาณ 22 กิโลเมตร ผันน้ำเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยสามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อรวมกับขีดความสามารถในการระบายน้ำที่มีอยู่เดิม จะสามารถระบายน้ำได้รวมทั้งหมด 2,930 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่ใต้เขื่อนชัยนาท ได้แก่ จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.ปทุมธานี ได้เฉลี่ย 1 ล้าน 9 แสน ถึง 2 ล้าน 5 แสนไร่ต่อปี และสามารถลดระดับความลึกของน้ำที่ท่วมลงได้ จะสามารถเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำสำหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านเกษตรกรรม รวม 229,138 ไร่ ในอำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมไปถึงอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ประชาชนจะมีน้ำในการอุปโภค บริโภค 15 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุคลอง 25 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 48 ตำบล 3 เทศบาล 362 หมู่บ้าน และจะสามารถเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ถนนบนคันคลองเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่าง อำเภอบางบาลและอำเภอบางไทร และยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ด้วย
ผู้สื่อข่าว:ปภาดา พูลสุข