หลังจากฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงเช้ามืด จนถึงช่วงสายๆ ของวันนี้(10ม.ค.2561) ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังหลายจุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตั้งแต่เช้าถึงบ่าย ทำให้น้ำเข้าไปตามบ้านเรือน ร้านค้า แหล่งชุมชน และบนผิวถนน ส่งผลต่อการจราจรเป็นอย่างมาก จากการลงพื้นที่ทีมข่าวสำรวจการทำงานของสถานีสูบน้ำพระโขนง และสถานีสูบน้ำอุโมงค์พระโขนง ที่รับน้ำจาก 3คลองหลัก ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ และคลองพระโขนง ก่อนระบายน้ำออกสู่แม่น้ำพระเจ้ายา
นายชัยวัฒน์ ตันสวัสดิ์ วิศวกรชำนาญการ สำนักการระบายน้ำ กทม. เปิดเผยว่า ที่สถานีสูบน้ำพระโขนงมีเครื่องสูบน้ำจำนวน 51เครื่อง โดยเร่งระบายน้ำมาตั้งแต่เมื่อกลางคืน เมื่อเดินเครื่องสูบน้ำแรงมากเท่าไหร่ ก็จะระบายน้ำได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ไหลมากับน้ำ คือขยะต่างๆ เช่น กล่องโฟม พลาสติก ที่นอน ซากสัตว์ต่างๆ ขอนไม้ใหญ่-เล็ก จำนวนมาก ในแต่ละวันจะไหลมาติดตรงตะแกรงเหล็กก่อน 2ชั้น เพื่อกั้นขยะไม่ให้เข้าสู่ส่วนของเครื่องสูบน้ำ เพราะหากมีขยะเข้าไปยังเครื่องสูบน้ำ จะทำให้ไปติดที่ใบพัด ส่งผลให้เครื่องสูบน้ำชำรุด ต้องปิดเพื่อซ่อมแซม ส่งผลให้การระบายน้ำเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเวลามีฝนตกหนัก ต้องเดินเครื่องสูบน้ำแรงกว่าเดิม ขยะก็จะมากับน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ต้องเร่งระบายน้ำ ไปพร้อมๆกับการเก็บขยะตลอดเวลาเช่นกัน
สำหรับสถานีสูบน้ำแต่ละที่ จะมีการดำเนินการสูบน้ำตามแผน หากมีแนวโน้มที่ฝนจะตก ต้องเร่งดำเนินการพร่องน้ำเตรียมไว้ อยู่ระดับต่ำกว่าน้ำทะเล 80เซนติเมตร ณ ขณะนี้ยังต้องเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าพื้นที่ด้านในกรุงเทพมหานคร จะกลับสู่สภาวะปกติทั้งหมด และพร่องน้ำไว้ในระดับต่ำกว่าน้ำทะเล 80เซนติเมตรเช่นเดิม นายชัยวัฒน์ เพิ่มเติมว่า วอนขอความร่วมมือจากประชาชน งดทิ้งขยะลงแม่น้ำ ลำคลอง เพราะปัจจุบันระบบลำเลียงน้ำค่อนข้างจำกัด พื้นที่รับน้ำน้อยลง หากมีปัญหาของขยะมากีดขวางทางน้ำ การระบายน้ำก็จะเป็นไปได้ช้า ส่งผลให้น้ำขังในเขตชุมชนนานยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าว: วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์