การเฝ้าระวังอีโบล่า ในสัตว์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต นายกสัตวแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ไวรัสอีโบล่าเกิดขึ้นที่ทวีปแอฟริกา มีสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคหลักคือ ค้างคาว และมีรายงานว่ามีการแพร่เชื้อต่อไปยังสัตว์ป่า ได้แก่ ลิง ชิมแปนซี กอลิล่า คิงคอง เม่น กวาง และสุกร จากการสุ่มตรวจสัตว์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี2556 ทั้งสัตว์ในป่า สัตว์ในครอบครอง สัตว์กลุ่มเสี่ยง และตลาดค้าสัตว์ป่า รวมจำนวนกว่า2,500ตัวอย่าง ยังไม่พบสัตว์ติดเชื้อไวรัสอีโบล่า
ส่วนแนวทางการป้องกัน กรมปศุสัตว์เตรียมออกประกาศให้ด่านตรวจทั้ง37จุดทั่วประเทศห้ามการนำเข้าสัตว์ป่าทุกชนิดจากประเทศกลุ่มเสี่ยงชั่วคราว ได้แก่ คองโก ไอวอรี่โคสต์ ไนจีเรีย ซูดาน ไลบีเลีย กีนี กาบอน อูกานดา และเซียราลีโอน และเตรียมเสนอบรรจุเชื้อไวรัสอีโบล่า ให้อยู่ในพ.ร.บโรคระบาดจากสัตว์ เพราะที่ผ่านมาอยู่ในความเสี่ยงระดับต่ำจึงยังไม่เข้าข่าย
ด้าน นางบุษบง กาญจนสาขา หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า สำหรับการอพยพของค้างคาวจากทวีปแอฟริกาเข้ามายางทวีปเอเชียถือว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะค้างคาวไม่สามารถบินได้ไกลเกินกว่า10กิโลเมตร ส่วนสัตว์ป่าที่อยู่ตามสวนสัตว์ยืนยันว่ามีความปลอดภัย เพราะอยู่ในประเทศไทยมานานมาก
ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นการลักลอบนำเข้าสัตว์ป่าขอให้แจ้งกรมปศุสัตว์โดยด่วน เพื่อเข้าตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฏหมาย และขอให้ประชาชนงดการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าในกลุ่มนี้ เพราะเชื้อไวรัสอีโบล่าจะสามารถติดต่อผ่านการบริโภคและการสัมผัสสารคัดหลั่งเท่านั้น
ในวันนี้ สัตวแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมย์ ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และมหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวการเฝ้าระวังโรคอีโบล่าระบาดในสัตว์