การแก้ไขกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ว่าด้วยการรับทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาตรา 103 และประกาศแนวทางการปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมาย ป.ป.ช. ปี 2544 เกี่ยวกับการรับสิ่งของหรือทรัพย์สินอื่น มูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้เสนอให้มีการปรับวงเงิน แต่ได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวว่า อาจมีการปรับปรุงตัวเลข 3,000 บาท เนื่องจากกฎหมายบังคับใช้ตั้งแต่ ปี 2542 แต่หากไม่เห็นด้วยก็ไม่ว่ากัน แต่เรื่อง3,000 บาท ไม่อยู่ในกฎหมาย แต่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ กฎหมายป.ป.ช. มาตรา 103 ที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ-ข้าราชการ รับไม่ได้แม้แต่บาทเดียว เว้นแต่เป็นการรับโดยธรรมจรรยา จรรยาบรรณ ตามวงเงินที่ ป.ป.ช. ประกาศและกำหนดไว้ ซึ่งต่อมา ป.ป.ช. ประกาศ ปี 2544 ไม่สามารถรับเงินได้แม้แต่บาทเดียว เว้นการรับโดยธรรมจรรยาเท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขการรับจากญาติ ไม่กำหนดวงเงิน /การรับจากบุคคลที่ไม่ใช่ญาติในโอกาสต่างๆ ไม่เกิน 3,000 บาท และบุคคลทั่วไป จะเกินหรือไม่เกินก็ได้ เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับ ทั้งนี้ เน้นย้ำว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามคนให้ แต่ห้ามคนรับ แต่ไม่ได้หมายความเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงนักการ ภารโรง เจ้าหน้าที่ธุรกิจ จนถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงกรรมการต่างๆ และเอกชนที่เป็นบอร์ดของรัฐ แต่อย่าพูดเล่นๆง่ายๆ ว่าห้ามรับเกิน 3,000 บาท อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่ใช่ผู้เสนอ เพราะตนและรัฐบาลเสนอไม่ได้ แต่เคยคุยกับ ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช. จะไปพิจารณา การแก้ไขอาจจะต้องมีเงื่อนไขอื่นด้วย เช่น บางกรณีแม้แต่ 1,000 บาท ก็รับไม่ได้ แต่จะต้องครอบคลุมกับทุกคน
นายวิษณุ กล่าวถึง การพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เชิญผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าพบ โดยรับทราบว่าวันที่ 9 ม.ค. กกต. จะพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งการปรับแก้ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับแก้คุณสมบัติผู้สมัครให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพราะคุณสมบัติใหม่เข้มข้นขึ้น ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความเห็นและร่วมทำมาตั้งแต่ต้น ขณะที่ กกต. มี 30-40 ประเด็นที่ต้องแก้ไข และจะรอช้าไม่ได้ แม้จะไม่เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติ เช่น การบริหารจัดการการเลือกตั้ง จากเดิมที่มี กกต. จังหวัด แต่รัฐธรรมนูญใหม่ไม่มี กกต. จังหวัด จึงควรแก้ไขในคราวเดียวกัน เพราะไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ไม่ได้ตัดประเด็นนี้ออก เนื่องจากจะปรับแก้ในรอบต่อไป แต่กกต.เห็นว่าควรปรับเลย เพราะไม่ยุ่งยาก ซึ่งจะรอฟังความเห็น กกต. พรุ่งนี้ ก่อนจะให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ แล้วส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไข และเข้า ครม.เห็นชอบ ก่อนส่งไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าเข้าสนช.ในเดือน ก.พ. จากเดิมที่คาดว่าเป็นเดือนม.ค. นี้ แต่จะใช้เวลาพิจารณานานเท่าใดไม่ทราบ และเมื่อสนช. พิจารณาแล้ว เป็นหน้าที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)พิจารณาว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใด ระดับใด และเมื่อใด ต่อไป ซึ่งใช้เวลาไม่นานเท่าเลือกตั้งระดับชาติ คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน หลังกฎหมายประกาศใช้ ก็สามารถเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ขณะที่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย แจ้งว่าบางท้องถิ่น เช่น อบจ. อาจจะต้องแบ่งเขตใหม่ ซึ่งตนเองจะให้ กกต.ไปแบ่งเขตในระหว่างที่สนช.พิจารณากฎหมาย เพื่อให้พร้อมกับการเลือกตั้ง
แฟ้มภาพ
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี