รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมอบนโยบาย ป.ป.ส.เน้นการป้องกัน

05 มกราคม 2561, 06:08น.


( 4 มกราคม 2561) พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ประกอบด้วย พลตำรวจโท วรศักดิ์ นพสิทธิพร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก มณฑล สัชฌุกร โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม พลตำรวจเอก เรืองศักดิ์ จริตเอก ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พลตำรวจโท ต่อศักดิ์ สอาดพรรค คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ณ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) โดยมี นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นายชลัยสิน โพธิเจริญ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นายวิชัย ไชยมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ส. ให้การต้อนรับ และร่วมรับมอบนโยบายในการปฏิบัติงาน




ทั้งนี้ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้หลักการบริหารงานโดยเน้นย้ำในเรื่องการอำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความทุกข์ยาก สร้างประชาสามัคคี ส่งเสริมคนดีสู่สังคม




และการมอบนโยบายให้กับ เลขาธิการ ป.ป.ส. คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ส. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) และรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ปัญหายาเสพติด แนวทางการดำเนินงานในปี 2561 ที่เน้นการดำเนินงานตาม 3 มาตรการ (ป้องกัน/บำบัด/ปราบปราม) ความร่วมมือระดับนานาชาติในการแก้ไขปัญหายาเสพติด การปรับกฎหมายยาเสพติด รวมถึงการสร้างการรับรู้ความเข้าใจเรื่องยาเสพติดให้ประชาชน โดยเน้นย้ำนโยบายการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ดังนี้ 


1. พัฒนาบุคลากรที่ทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ทันต่อสถานการณ์ปัญหายาเสพติด


2. ผลักดันให้ประเทศนอกภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติดเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ


3. ให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาทางเลือกอย่างยั่งยืน เพื่อผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยให้ขยายผล และทำเป็น Model ที่ชัดเจน กำหนดเป็นแผนงาน โครงการ กิจกรรม และแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในระยะ 1 ปี 5 ปี และ 10 ปี


4. พัฒนารูปแบบกระบวนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดให้มีประสิทธิภาพ สามารถคืนคนดีสู่สังคมได้


5. กำจัดแหล่งผลิตยาเสพติด ด้วยเทคนิค กลยุทธ์ วิธีการ ที่ทันสมัย


6. การดำเนินมาตรการทั้ง 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการป้องกัน มาตรการปราบปราม มาตรการบำบัด และความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้มีการบูรณาการร่วมกัน โดยเน้นการจัดลำดับความสำคัญ


7. ต้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งหน่วยงานภายในสำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานภายนอกให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น


8. พัฒนางานด้านป้องกันในเด็กและเยาวชนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและมีคุณภาพมากขึ้น โดยเน้นกระบวนการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง




จากนั้น ได้ตรวจเยี่ยม ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงาน ป.ป.ส. สำหรับดำเนินการติดตามและรายงานสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถติดตามข้อมูล สถานการณ์ การรายงานผลจากหน่วยปฏิบัติทุกวันแบบ Real time ส่งตรงจากในพื้นที่ มีระบบรับแจ้งข่าวสารจากประชาชน เพื่อให้ผู้บริหารสามารถบริหารสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันเหตุการณ์ และสามารถขับเคลื่อนนโยบาย/แผน/ข้อสั่งการ และประเมินผลการปฏิบัติงานได้ทุกวัน, ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง (ONCB Self-Learning) ทักษะด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาความรู้ด้านการปราบปรามยาเสพติด โดยใช้คอมพิวเตอร์ รวมถึงพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการ และบุคลากรภาครัฐ , ศูนย์ยาเสพติดนิทรรศน์ (Narcotics Education Center) ศูนย์แสดงนิทรรศการยาเสพติดเพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษ และพิษภัย รวมถึงแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยเน้นการนำเสนอเนื้อหาด้วยเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ระบบแสง สี เสียง และสื่อปฏิสัมพันธ์หลากหลายชนิดที่มีความทันสมัย น่าสนใจ เหมาะสมกับเยาวชน อายุ 10 - 20 ปี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับยาเสพติด, ศูนย์ฝึกยิงปืนสถานการณ์จำลอง ใช้ในการฝึกปฏิบัติพัฒนาเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนปราบปรามให้มีทักษะในการป้องกันตัว เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ 




ในปี 2560 สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ดำเนินการตามแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชน/มั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559 - 2560 โดยผลการปฏิบัติงานมีดังนี้ มาตรการปราบปรามยาเสพติด สามารถจับกุมคดียาเสพติดได้ 371,594 คดี ผู้ต้องหา 414,827 คน ของกลางยาเสพติด ได้แก่ ยาบ้า 269,457,607 เม็ด ไอซ์ 6,017 กิโลกรัม เฮโรอีน 493 กิโลกรัม กัญชา 16,638 กิโลกรัม โคเคน 79 กิโลกรัม คีตามีน 689 กิโลกรัม โดยสามารถยึดและอายัดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญ 2,968 ราย มูลค่ารวม 2,645 ล้านบาท มาตรการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด นำผู้เสพเข้าสู่ระบบการบำบัดฯ ได้ 293,024 ราย ติดตามผู้ผ่านการบำบัดฯ 233,632 ราย ติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฯ ที่ประสงค์รับความช่วยเหลือ 10,877 ราย และมอบเงินทุนประกอบอาชีพโครงการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด 1,112 ราย และมาตรการป้องกันยาเสพติด เน้นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนทั่วไป จากผลการดำเนินงานภายใต้แผนประชารัฐร่วมใจฯ ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับปานกลาง - มากที่สุด ร้อยละ 97.5 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 และพบว่าปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนในปี 2560 ลดลงจากปี 2559 จำนวน 6,473 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 21.05


.........


ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย 


“สมัครใจเข้าบำบัด ไม่เสียประวัติ ไม่มีความผิด”


แจ้งเบาะแสยาเสพติดสายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386
ข่าวทั้งหมด

X