ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ได้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วนั้น ในวันนี้ สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและสำนักงานเลขานุการกองทัพบก ได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เวลา 10.20 น.ไปจนจบพิธี
ติดตามต่อไปด้วยว่า จะมีการทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อคณะรัฐมนตรีทันทีหรือไม่
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า คสช.ส่งหนังสือแจ้งสำนักงาน กสทช.ให้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่ถูกระงับการออกอากาศทั้ง 12 สถานี กลับมาออกอากาศได้ตามปกติ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและประกาศ คสช.อย่างเคร่งครัด โดยในวันนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จะมีการพิจารณาเพื่อให้การกลับมาออกอากาศเป็นผลโดยเร็ว
ส่วนการรับสมัครบุคคลเข้าสรรหาเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวานนี้เป็นวันที่ 11 แล้วและมีผู้เดินทางมาสมัครกันอย่างต่อเนื่อง อาทินายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เข้าสมัครด้านสังคม ในนามสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม นายยรรยงก์ ถนอมพิชัยธำรง อดีตอธิบกรมป่าไม้ สมัครในนามสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายพงษ์ศักดิ์ เสมสันต์ อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร ลงสมัครด้านการปกครองท้องถิ่น ในนามสมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรในพระบรมราชูปภัมภ์
ซึ่งนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เชื่อว่าอีก 9 วันที่เหลืออาจมีผู้มาสมัครเกิน 3,000 คน โดยพบว่าผู้สมัคร สปช.ทั้ง 11 ด้านนั้น ด้านการศึกษามีองค์กรนิติบุคคลมาเสนอชื่อมากที่สุด ส่วนด้านพลังงานเป็นด้านที่มีการเสนอชื่อน้อยที่สุดเพียง 22 คนเท่านั้น รวมผู้สมัครนับตั้งแต่วันที่ 14-24 สิงหาคม มีทั้งสิ้น 2,045 คน แบ่งเป็นเสนอผ่านนิติบุคคล 660 คน และผ่านจังหวัด 1,385 คน
ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณรัฐสภา ตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐสภาที่อาจจะมีการทุจริต เสร็จสิ้นแล้ว 6 โครงการ มูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 20 ล้านบาท โดยจะสรุปสำนวนส่งให้นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาฯ ได้ต้นเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้กันบุคคลที่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ให้ความร่วมมือในชั้นการสอบสวน และให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยาน หากพบความผิดจะลงโทษภาคทัณฑ์หรือตัดเงินเดือน เพราะคณะกรรมการฯ ต้องการนำตัวผู้บงการมาลงโทษ โดยจะส่งหลักฐานทั้งหมดให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการต่อไป
ในวันนี้ พล.อ.อ.ศิวเกียรติ์ ชเยมะ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยร้อยโทอธิศักดิ์ พัดชื่นใจ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ เรืออากาศเอกมนตรี จำเรียง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน และนาวาอากาศตรี สถาพร เจริญศิริ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการการบิน จะแถลงกรณีที่มีข่าวระบุว่านักบินการบินไทยได้ยื่นลาออกจำนวน 200 คน ไปอยู่กับสายการบินคู่แข่ง โดยเป็นนักบินที่บินเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A330 และ A340 ซึ่งนายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การบินไทย กล่าวว่า หากการลาออกเป็นเรื่องจริงก็คงจะกระทบต่อการบินไทยเป็นอย่างมาก เพราะคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนนักบินและผู้ช่วยนักบิน ส่วนกรณีที่การบินไทย เปิดโครงการสมัครใจลาออกในโครงการ “ร่วมใจจากองค์กร” มีผู้สมัครใจยื่นลาออกแล้วกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี จึงไม่กระทบต่อการดำเนินงาน แต่ต้องมีการปรับตัวเลขให้เหลือ 900 คนตามแผน
เมื่อวานนี้ มวลชนกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย มีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อรณรงค์ให้มีการปฏิรูปพลังงาน และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เจรจาให้ยุติการชุมนุม เนื่องจากยังอยู่ในช่วงกฎอัยการศึก ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แต่แกนนำยืนยันนำการเดินเท้าไปสวนจตุจักร แต่เมื่อมาถึงปากซอยพหลโยธิน 2 มีตำรวจควบคุมตัวมวลชน 7 คน ขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขัง รวมทั้งนายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน โดยมี พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการศึกษา ช่วยราชการกองบัญชาการตำรวจนครบาล ดูแลด้านความมั่นคง ดูแลสถานการณ์ด้วยตัวเอง ซึ่งเบื้องต้นผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดจะถูกควบคุมตัวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ตามกฎอัยการศึก ก่อนส่งให้ สน.พญาไท ดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน
ส่วนเรื่องของไวรัสอีโบลา นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการออกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 และได้ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาของผู้เชี่ยวชาญพบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ จึงขอให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนก
*-*